ผลวิจัยชี้ 4 ทศวรรษ โรคอ้วนในเด็กพุ่ง 10 เท่า

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตเผยข้อมูลชวนตะลึงว่า เด็กและวัยรุ่นในยุคปัจจุบันเป็นโรคอ้วนมากกว่าเมื่อปี 2518 หรือเมื่อ 42 ปีก่อนถึง 10 เท่า อย่างไรก็ดีจำนวนเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานก็ยังมีจำนวนมากกว่าเด็กที่เป็นโรคอ้วน

คณะนักวิจัยเตือนว่าภาวะขาดสารอาหารจะเพิ่มภาระมากขึ้นเป็น 2 เท่า ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ที่เป็นโรคอ้วนก็เพิ่มสูงกว่าการลดลงของภาวะทุพโภชนาการ อย่างไรก็ดีหากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จำนวนเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนจะแซงหน้ากลุ่มคนที่ขาดสารอาหารภายในปี 2565 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

ทีมนักวิจัยพบว่ามีเด็กชายวัย 5-19 ปีที่เป็นโรคอ้วนถึง 74 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4 ทศวรรษก่อนหน้าถึง 6 ล้านคน ขณะที่เด็กหญิงที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจจาก 5 ล้าน เป็น 50 ล้านคน ขณะที่ในปีเดียวกัน เด็กขาดสารอาหารซึ่งเป็นชายมีอยู่ 117 ล้านคน ส่วนเด็กหญิงมี 75 ล้านคน โดยเกือบ 2 ใน 3 ของเด็กที่มีปัญหาทุพโภชนาการอาศัยอยู่ในเอเชียใต้

ปริมาณเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก แต่ปริมาณของเด็กที่ขาดสารอาหารในทุกพื้นที่กลับลดลงอย่างช้าๆ เว้นแต่ในพื้นที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในพื้นที่แอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาตะวันตก

ทั้งนี้ในภาพรวมเด็กที่เป็นโรคทุพโภชนาการมีจำนวนลดลง โดยในเด็กหญิงลดจาก 9.2 เปอร์เซนต์ เหลือ 8.4 เปอร์เซนต์ ขณะที่เด็กชายลดจาก 14.8 เปอร์เซนต์ เหลือ 12.4 เปอร์เซนต์ ส่วนโรคอ้วนในเด็กหญิงเพิ่มขึ้นจาก 0.7 เปอร์เซนต์ เป็น 5.6 เปอร์เซนต์ เด็กชายเพิ่มจาก 0.9 เปอร์เซนต์ เป็น 7.8 เปอร์เซนต์

 

ที่มา  มติชนออนไลน์