กรมอุตุฯแจงเหตุการณ์ “วันฟ้ามืด” เมฆดำทะมึนปกคลุม กทม.และปริมณฑล

วันฟ้ามืด 29 สิงหาคม 2565

กรมอุตุนิยมวิทยาแจงกลุ่มเมฆสีดำเมื่อช่วงเช้าที่ประชาชนแห่ถ่ายภาพ แห่แชร์ ระบุเป็นเมฆฝนก่อตัวขนาดใหญ่และหนา จนแดดทะลุผ่านไม่ได้ หรือเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกเอกสารข่าวชี้แจงผ่าน เฟซบุ๊กกรมอุตุนิยมวิทยา กรณีเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนาปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตปริมณฑล เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศมืด ดูเหมือนว่าเป็นตอนกลางคืน จนมีประชาชนพากันถ่ายภาพและส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์กันจำนวนมาก

กรมอุตุนิยมวิทยา ขอเรียนชี้แจงว่า เมื่อเช้าวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำเกิดฝนตกในภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ส่วนเมฆที่ปรากฏ เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ “คิวมูโลนิมบัส” เมื่อเช้านี้มีลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรงทำให้เกิดแนวโค้งเหมือนเมฆอาร์คัส (มีลักษณะโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ คล้ายม้วนแบบหลอดและแบบชั้น) และเนื่องจากอาร์คัส เป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนองจึงสามารถแผ่ออกมาไกลจากตัวเมฆและมองเห็นได้ในหลายพื้นที่และหลายกิโลเมตร

สำหรับกลุ่มเมฆฝนทำไมถึงเป็นสีดำ เนื่องจากกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้น ทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ ทำให้บรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน ตัวอย่างเช่น เช้าวันที่ 29 สิงหาคม 2565 มีกลุ่มเมฆฝนก่อตัวทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา และเคลื่อนเข้าปกคลุมกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆฝนที่มีขนาดใหญ่และหนา

สำหรับบริเวณที่กลุ่มเมฆฝนก่อตัวจะเกิดทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น และเมื่อกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้น ทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ และบรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่ม สามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-14 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เอกสารข่าวกรมอุตุฯ