ศักดิ์สยาม เปิดประชุมการขนส่งของเอเปค ชูแนวคิดขนส่งเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

“ศักดิ์สยาม” เปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 ชูวิสัยทัศน์ “การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน” ขายโครงการ Land Bridge แก่คณะทำงาน

วันที่ 14 กันยายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group : TPTWG52) ภายใต้เป้าหมายหลักคือ การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน” (Seamless, Smart and Sustainable Transportation) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group : TPTWG52) ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ภายใต้เป้าหมายหลัก “การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน” (Seamless, Smart and Sustainable Transportation) ซึ่งการประชุมด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 มีสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบ Online และ Onsite

การประชุมด้านการขนส่งของเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นเป็นเวทีสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขาคือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และโอกาสในการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปค ปี 2565-2568 (TPTWG Strategic Action Plan 2022-2025) ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานและแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในกรอบเอเปคด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง

กระทรวงคมนาคมได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปค ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศได้อย่างสะดวก ไทยจึงมีความพร้อมและศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ผ่านการเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงสายเอเชีย ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนบ้านบนพื้นทวีปเอเชียได้อย่างสะดวก ผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายทางรถไฟในภูมิภาค ผ่านเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน และสามารถเชื่อมต่อไปถึงรัสเซียและยุโรป

การเชื่อมต่อทางอากาศผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานนานาชาติของไทย เพื่อรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินจากทั่วโลก ส่งเสริมให้การเดินทางทางอากาศระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค มีประสิทธิภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อทางน้ำ ซึ่งไทยมีท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นท่าเรืออันเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับภูมิภาค และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

ในการนี้กระทรวงคมนาคมได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อรับรองผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา ซึ่งภายในงานมีการสร้างบรรยากาศการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีไทย การโชว์งานจักสานที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย สอดคล้องกับตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี 2565 รวมถึงการแสดงโขนรามเกียรติ์ เพื่อสื่อสารถึงความร่วมมือระหว่างกันของเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้น

ในโอกาสพิเศษนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวเปิดตัวและนำเสนอวีดิทัศน์โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Southern Landbridge) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล ที่เป็น Transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์ เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ เพื่อการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (OPEN. CONNECT. BALANCE.)