“ปิยะสกล” เชื่อกรมบัญชีกลางเตรียมให้สิทธิช่วยเหลือทางการแพทย์ข้าราชการ หลัง 2 สิทธิได้แล้ว

แฟ้มภาพ

หลังจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกประกาศหลักเกณฑ์ให้สิทธิผู้ประกันตน 13 ล้านคน กรณีได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท แต่ปรากฏว่ายังมีอีกสิทธิหนึ่งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหากเกิดกรณีเช่นนี้ คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ 5 ล้านคน

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในเรื่องของการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายทางการแพทย์นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ อาศัยมาตรา 41 ในการช่วยเหลือ ขณะที่ล่าสุดสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ออกประกาศโดยยึดตามเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกัน และเมื่อ 2 สิทธิมีประกาศดังกล่าวแล้ว ตนก็เชื่อว่าทางกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะมีประกาศลักษณะนี้เพื่อให้ข้าราชการทุกคนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ… ซึ่งจะครอบคลุมทุกสิทธิ ขณะนี้เดินหน้าถึงไหน นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า เรื่องนี้ค่อนข้างใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงาน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำลังดำเนินการให้ดีที่สุด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในทางเดียวกันก็มองว่าแต่ละกองทุนแต่ละสิทธิหากออกเป็นประกาศของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะดี ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงสิทธิข้าราชการ คิดว่าน่าจะดำเนินการอยู่เช่นกัน

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า จริงๆ แล้วในเรื่องมาตรา 36 (7) เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์นั้น ทาง คปค.ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 โดยได้ผลักดันขอให้ออกประกาศมาตลอด จนในที่สุดสำนักงานประกันสังคมนำเข้าคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ซึ่งก็มีการถกเถียงกันในทางปฏิบัติงานจนต้องส่งให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และตรวจสอบว่าสามารถทำได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ค่อนข้างช้าจน 3 ปี แต่สุดท้ายก็ได้ และยืนตามอัตราของบัตรทอง

“สิ่งที่กังวลคือ ในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากประกันสังคมไม่ได้ทำรูปแบบเหมือนบัตรทอง ที่มีอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายจังหวัดมานั่งพิจารณาให้ ซึ่งมีความรวดเร็ว เพราะการที่ระบุว่า จะแบ่งออกเป็น 4 โซน มีอนุกรรมการคอยพิจารณาเรื่องว่าเข้าข่ายการช่วยเหลือเบื้องต้นหรือไม่อย่างไรเพียง 4 คณะ แบ่งออกเป็นแต่ละโซนพื้นที่นั้น ผมว่าไม่เพียงพอ จริงๆ ต้องทำให้ครบทุกจังหวัด เพราะทุกวันนี้เรามีอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัดอยู่แล้ว และที่คิดว่าจะเป็นปัญหาอีก คือ ในประกาศระบุว่า หากกรณีผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 มาจนปัจจุบันยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ให้มาแจ้งขอความช่วยเหลือได้ แต่ต้องแจ้งไปยังเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น ผมว่าไม่ถูกต้อง ควรไปที่จังหวัดเลย แบบนี้ไม่สะดวก และขัดเจตนารมณ์เพราะการช่วยเหลือต้องรวดเร็ว” นายมนัสกล่าว และว่า ประกันสังคมต้องปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ อย่างกรณีการอุทธรณ์ ก็มีคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์เพียง 1 ชุด ทั้งๆ ที่มีเรื่องเข้ามาเป็นหมื่นเรื่องยังค้างอยู่เลย เพราะทำไม่ทัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์