ชัชชาติ กระชับอำนาจทำงาน เร่งสร้าง กทม.เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
แฟ้มภาพ : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

นับจากวันแรกที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 จนถึง 23 ตุลาคม 2565 ทีมชัชชาติทำงานแล้ว 135 วัน บรรยากาศการทำงานครบรสครบเครื่อง เผชิญศึกรอบด้านทั้งศึกในศึกนอก ม็อตโต้ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ยังคงเป็นแนวทางที่มุ่งมั่น

ตามไปดูนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี (ปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี บริหารจัดการดี เดินทางดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี) หลายเรื่องเดินมาถึงจุดสุกงอม ดังนี้

โยกย้าย 48 ตำแหน่ง

การกระชับอำนาจครั้งแรกของ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โยกย้ายข้าราชการระดับสูง กทม.บิ๊กลอต 48 ตำแหน่ง มีทั้ง “โปรโมต” ผู้ช่วย ผอ.เขตนั่งเก้าอี้ ผอ.เขต 12 ตำแหน่ง, โยกสลับจาก ผอ.เขตมานั่งผู้ตรวจราชการ กทม. 6 ตำแหน่ง

ยังไม่นับรวมการโยกย้ายตำแหน่งอื่น ๆ อีก 30 ตำแหน่ง เพื่อกระชับอำนาจเร่งแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอยกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะผ่านแอปพลิเคชั่น Traffy Fondue

ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

ปัญหาคนกรุงช่วงหน้าหนาวคือฝุ่นจิ๋วหรือ PM 2.5 อัพเดตล่าสุดมีการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม.” ตั้งอยู่ที่สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง มีเรื่องดำเนินการ 3 ด้าน 1.รถขนส่ง รถควันดำ ได้ดำเนินการเชิงรุก ตรวจทุกวันตลอดช่วง 2 เดือน (ธันวาคม-มกราคม) ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจ โรงงาน และพยายามไปตรวจที่จุดกำเนิด เช่น แพลนต์ปูน ไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม

Advertisment

2.โรงงานอุตสาหกรรม ในกรุงเทพฯ มี 6,000 โรงงาน โดย 260 แห่งเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยง PM 2.5 ต้องเฝ้าระวังอย่างละเอียด 3.การเผาชีวมวล ปี 2564 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเผา 9 จุด ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังและดูจุดความร้อนจากการเผาไหม้ต่าง ๆ (hotspot) ต่อไป

ที่น่าสนใจคือ มีรถอีกประเภทหนึ่งที่ปล่อยควันพิษได้ คือ “รถบรรทุกที่แบกน้ำหนักเกิน-Overload” ทำให้เกิดโอกาสปล่อยมลพิษออกมา กำลังดูแนวทางควบคุมเรื่องน้ำหนักบรรทุกเกินได้แค่ไหน หรือจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร เลยเถิดมาถึงการดูจุดต้นทาง ไม่ว่าจะเป็น “ท่าเรือ แพลนต์ปูน ขสมก.” เป็นต้น

โดย กทม.เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเปิด “คลินิกมลพิษทางอากาศ” 5 แห่ง ให้คำปรึกษาประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น

1.ที่โรงพยาบาลกลาง ให้บริการวันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00-12.00 น. 2.โรงพยาบาลตากสิน ให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (ยกเว้นวันพุธ/วันหยุดราชการ) เวลา 09.00-12.00 น. ณ บ้านชีวาสุข 3.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ให้บริการทุกวันพุธ เวลา 13.00-15.00 น. 4.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ให้บริการทุกวันอังคาร เวลา 08.00-16.00 น. และ 5.โรงพยาบาลสิรินธร เปิดให้บริการทุกวันอังคาร เวลา 13.00-16.00 น.

Advertisment

รองผู้ว่า

4 กฎหมายหลักคุมน้ำเสีย

“วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่าปัญหาเส้นเลือดฝอยว่าด้วย “การจัดการคุณภาพน้ำ” จากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำโดยสำนักการระบายน้ำ 169 คลอง และแม่น้ำเจ้าพระยา 9 จุด พบว่าคุณภาพน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม โดยจัดอยู่ในมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 5 (เพื่อการคมนาคมเท่านั้น) เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว มี 2 มาตรการหลัก “ใช้-ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง”

แบ่งเป็น “มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง” เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย มี 4 ฉบับหลัก คือ กฎหมายควบคุมอาคาร 2522 กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 กฎหมายโรงงาน 2535 และกฎหมายการสาธารณสุข 2535 ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น คลองแสนแสบและคลองสาขา บังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมคลองในรัศมี 500 เมตร เป้าหมาย 1,662 แห่ง

ปัจจุบันมีสถานประกอบการปฏิบัติถูกต้อง 1,068 แห่ง และยังฝ่าฝืน 395 แห่ง อยู่ระหว่างตรวจสอบ 199 แห่ง

ที่น่าสนใจคือการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย 2547 แก้ไขเพิ่มเติม 2562 กำหนดให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิด ปัจจุบันเตรียมเสนอร่างระเบียบ 2 ฉบับ และร่างประกาศ 6 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ

กับมาตรการ “ใช้สิ่งก่อสร้าง” คือก่อสร้างระบบบำบัด ปัจจุบัน กทม.มีโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 8 แห่ง ที่ “สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ” คลุมพื้นที่รวม 215.7 ตารางกิโลเมตร 22 เขต บำบัดน้ำเสียรวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน มีปริมาณน้ำเสียที่บำบัดได้จริงในปี 2564 เท่ากับ 834,507 ลูกบาศก์เมตร/วัน

นอกจากนี้ยังมีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็กที่รับโอนจากการเคหะแห่งชาติ 12 แห่ง ขีดความสามารถ 24,800 ลูกบาศก์เมตร/วัน บำบัดได้จริงในปี 2564 เท่ากับ 16,538 ลูกบาศก์เมตร/วัน รวมขีดความสามารถบำบัดน้ำเสีย 1,136,800 ลูกบาศก์เมตร/วัน คิดเป็น 45% ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นใน กทม.

ไฮไลต์โครงการก่อสร้างในอนาคต อยู่ระหว่างดำเนินการปี 2561 เป็นต้นไป 4 โครงการ คือ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย ธนบุรี มีนบุรี ระยะที่ 1 และบึงหนองบอน หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มเติม 665,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ระยะยาว (2566-2583) สร้างเพิ่ม 15 แห่ง เป็นโครงการบำบัดน้ำเสียฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ 8 แห่ง และตั้งอยู่นอกพื้นที่แนวคลองแสนแสบ 7 แห่ง

โครงการนี้จำเป็นต้องทบทวนใหม่ อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทการจัดการน้ำเสีย กทม. คาดว่าเริ่มศึกษาได้ปี 2566

เพิ่มสีเขียวกำแพงกันฝุ่นจิ๋ว

“จักกพันธุ์ ผิวงาม” รองผู้ว่าราชการ กทม.ขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีการตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ 1.ด้านนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง 2.ด้านนโยบายสวน 15 นาที 3.ด้านนโยบายจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต และ 4.ด้านการจัดการฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียว

โดย กทม.ประสานความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ม.เกษตรศาสตร์ กรมป่าไม้ มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมรุกขกรรมไทย เครือข่ายต้นไม้ในเมือง เครือข่ายสิ่งแวดล้อมเมือง กลุ่ม Big Tree และกลุ่ม We!Park ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ โดยจะเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามแต่งตั้ง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

Pride Clinic ครบทุกเขต

“รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการ กทม.อัพเดตนโยบาย กทม. ต่อการพัฒนาสุขภาวะของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป้าหมายภายในสิ้นปี 2565 นี้ ในโรงพยาบาล กทม. 5 แห่งที่มี Pride Clinic หรือคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ตอนนี้มี 11 แห่ง จะเพิ่มให้ได้ 16 แห่ง จากศูนย์บริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และโรงพยาบาลจะขยายจาก 5 แห่ง เป็น 9 แห่ง เพราะฉะนั้นการรองรับในที่สุดปลายทางของ กทม. ในปี 2566 จะสามารถทำให้ได้เกือบครบทุกเขต

“ประชากรของ LGBTQ+ กทม.มีประมาณ 1 แสนคน หรืออาจมากกว่านี้ กทม.อยากจะทำ อยากรับฟังทุกความเห็น และพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนทั้งพื้นที่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ เหมือนทุกคนเป็นเพื่อนเรา ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในสังคม และจะให้พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขต่อไป”

แผนเฟส 3 รับมือสังคมผู้สูงวัย

นโยบายจัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (2566-2570) จากการที่ กทม.เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 22% แล้ว บางเขต เช่น สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่ายมีถึง 32% โดยสำนักอนามัยร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดเวลา 180 วัน เป้าหมายเกิดแผนบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุของ กทม. เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

วิสัยทัศน์ของแผนระยะที่ 3 “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” และสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติเกี่ยวกับ “ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ-Active Aging” โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มและอำนวยความสะดวกให้ตั้งชมรมผู้สูงอายุ จัดหากิจกรรมให้กับชมรมผู้สูงอายุ ให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนโครงการขอรับเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีและสุขภาพกายที่แข็งแรง เป็นคลังปัญญาให้กับกรุงเทพฯ และเยาวชนต่อไป

นัดทิ้ง นัดเก็บ ขยะชิ้นใหญ่

ข้อมูลสำนักสิ่งแวดล้อมระบุปัจจุบันมีปริมาณขยะสูงถึง 10,000 ตัน/วัน รวมถึงขยะชิ้นใหญ่ที่ไม่ใช้แล้วจากบ้านเรือน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่นอน โซฟา เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ถูกวิธี จะทำให้เกิดการลักลอบทิ้งตามสถานที่รกร้างว่างเปล่า แม่น้ำ ลำคลอง ส่งผลให้เกิดการกีดขวางการระบายน้ำและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบนผิวการจราจร

สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับ 50 สำนักงานเขต จัดกิจกรรม “นัดทิ้ง นัดเก็บ ขยะชิ้นใหญ่” ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ในวันเสาร์+วันอาทิตย์ หมุนเวียนไปตามซอย ชุมชน และหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ 50 สำนักงานเขตอย่างทั่วถึง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยขยะชิ้นใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่อยู่ในสภาพดีจะนำมารวบรวมที่ศูนย์การเรียนรู้ของสำนักงานเขต เพื่อซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่

จุดโฟกัสอยู่ที่ กทม.กำหนดโทษผู้ทิ้งขยะชิ้นใหญ่ไม่ถูกที่ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถแจ้งข้อมูลที่ฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตในพื้นที่ หากเบาะแสนำไปสู่การจับปรับ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับส่วนแบ่ง 50% ของค่าปรับ โดยรับส่วนแบ่งได้ที่สำนักงานเขต ซึ่งการรับส่วนแบ่งผู้แจ้งต้องยื่นคำร้องขอรับส่วนแบ่งโดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นผู้อนุมัติ

รวมถึงปรับ 2,000 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นผู้ทิ้งขยะนอกภาชนะหรือจุดที่กำหนด โดยสถิติส่วนแบ่งค่าปรับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีผู้แจ้งเบาะแสและส่วนแบ่งค่าปรับหลายรายคิดเป็นเงินจำนวนหลายแสนบาท

“ชุดพี่กวาดเรืองแสง”

โครงการดี ๆ ที่ต้องบอกต่อ สำนักสิ่งแวดล้อมได้ริเริ่มโครงการมือวิเศษกรุงเทพ “แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด” เชิญชวนประชาชนแยกขยะขวดพลาสติกใสไปบริจาคที่จุดรับ 52 จุดทั่วกรุงเทพฯ เพื่อนำไปผลิตชุดสะท้อนแสงรูปแบบใหม่ให้พนักงานกวาด (1 ชุด ผลิตจากขวดพลาสติก 42 ขวด) ทดลองใช้ที่สำนักงานเขตดินแดงเป็นเขตแรก 200 ชุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เตรียมขยายการทดลองใช้ไปยังอีก 49 เขตต่อไป

จากการประเมินผลการใช้ชุดพี่กวาดเรืองแสง เบื้องต้นมีผู้ใช้งานแจ้งว่าสีของชุดสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล ซึ่งสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยกว่าชุดเดิม อย่างไรก็ดีลักษณะชุดค่อนข้างบาง เวลาโดนฝนจะมองเห็นทะลุ และเจ้าหน้าที่อยากได้กระเป๋าเพิ่มเติมเพื่อความสะดวก

437 ร.ร.เปลี่ยนขยะเป็นเงิน

“ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการ กทม.ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยนำโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีในฐานะ “โรงเรียนสังกัด กทม.ไร้ถัง” เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชน 10 แห่ง และ 443 โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นวาระสำคัญของประเทศ

“โรงเรียนไร้ถัง” นำโมเดลจัดการขยะแบบ “ทับสะแกโมเดล” ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบความสำเร็จลดปริมาณขยะจาก 15 ตัน/เดือน เหลือ 2 กิโลกรัม/เดือน ปลูกฝังเยาวชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล และมีส่วนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในโรงเรียน รวมทั้งสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนหันมาคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“หลักการของโครงการนี้คือ เมื่อแยกเสร็จแล้วจะมีคนรับไปเลย ทุกชิ้นจะไม่เป็นขยะอีกต่อไป เป็นโครงการนำร่องใน 24 โรงเรียน ตั้งเป้าจะต้องมีการขยายผลเพิ่มโรงเรียนละ 3 แห่ง รวมเป็น 72 โรงเรียน จาก 72 โรงเรียนเพิ่มตัวคูณก็จะเป็น 216 โรงเรียน ภายใน 3 ปี ก็จะครบ 437 โรงเรียน หรือมากกว่านั้น”

ทั้งนี้ กทม.นำโมเดลภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังมาดำเนินการทันทีกับโรงเรียนสังกัด กทม. 4 เขต “หนองแขม ปทุมวัน พญาไท บางเขน” รวม 19 โรงเรียน โดย 3 เขตแรกนำร่องโครงการ “ไม่เทรวม” รณรงค์แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป