อธิรัฐมอบนโยบายท่าเรือ ดันแหลมฉบังสู่ระดับภูมิภาค

อธิรัฐมอบนโยบายท่าเรือ

“อธิรัฐ” มอบนโยบายพัฒนาท่าเรือไทย “ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port)” สู่ท่าเรือมาตรฐานระดับโลก รถบรรทุกอัตโนมัติพลิกโฉมนวัตกรรมท่าเรือ

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นท่าเรือแหลมบัง จ.ชลบุรี เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) มอบนโยบายพัฒนาท่าเรือไทย “ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port)” สู่ท่าเรือมาตรฐานระดับโลก โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการพัฒนาศักยภาพของการขนส่งสินค้าทางน้ำให้เต็มความสามารถ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

จึงได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้กับ กทท. 1.พัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับกิจการท่าเรือและธุรกิจโลจิสติกส์การให้บริการของ กทท. เช่น เทคโนโลยีควบคุมระบบจากระยะไกล, บริการติดตามสถานะออนไลน์, บล็อกเชน, รถบรรทุกไร้คนขับ และเทคโนโลยีควบคุมการผ่านเข้าออกอัตโนมัติ เพื่อให้การทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เปลี่ยนแปลงท่าเรือแหลมฉบังสู่การเป็นศูนย์กลางท่าเรือระดับภูมิภาค พร้อมยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือ

2.การดำเนินการนโยบายท่าเรือสีขาว (White Port) ได้เน้นย้ำให้ กทท.ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ในการตรวจสอบสินค้าที่มีกฎหมายการนำเข้า-ส่งออก หรือผ่านราชอาณาจักร โดยจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการปัญหาการจราจรในท่าเรือ รวมถึงการลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และตรวจสอบการบรรทุกน้ำหนักสินค้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นเวลา 14.00 น. เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านระบบเทคโนโลยีเครื่องมือยกขนตู้สินค้าด้วยระบบควบคุมจากระยะไกลที่ทันสมัย ณ ท่าเทียบเรือ D บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ทันสมัยที่สุดในโลก และเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าแห่งแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำรถหัวลากอัตโนมัติไร้คนขับ ปฏิบัติงานขนถ่ายตู้สินค้าระหว่างหน้าท่าและในลานตู้สินค้า ร่วมกับรถหัวลากทั่วไป

รถบรรทุกไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า Qomolo หรือ ‘Q-Truck’ จำนวนทั้งหมด 15 คัน มีระบบการชาร์จพลังงานแบบไร้สาย ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องได้มากกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งเซ็นเซอร์ “LiDAR” ที่วัดระยะห่างด้วยแสงเลเซอร์ (LiDAR-Light Detection and Rage) ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับและสำรวจสภาพแวดล้อมทุกทิศทางได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ด้วยการสร้างแผนที่แบบ 3 มิติ ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินสภาพการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคและการชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับภายในท่าเทียบเรือชุด D จะถูกควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการสำหรับท่าเทียบเรือแบบครบวงจร ‘nGen’ เพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกับนวัตกรรมอื่น ๆ ภายในท่าเทียบเรือชุด D อาทิ เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) เพื่อวางแผนเส้นทางวิ่งของรถ ตลอดจนระบบนัดหมายรถเข้าท่าเทียบเรือและลานจอดรถ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดในการปฏิบัติงาน

นายอธิรัฐกล่าวว่า รถบรรทุกไร้คนขับ Q-Truck เป็นการพลิกโฉมนวัตกรรมท่าเรือ โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุด เป็นการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการท่าเรือของประเทศไทย ยกระดับสู่ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในภูมิภาคอาเซียน