มิติใหม่รถไฟไทย EV on Train

รถไฟ EV

รถไฟไทยปี 2566 อินเทรนด์สุด ๆ สร้างเซอร์ไพรส์กันตั้งแต่ต้นปีกับอีเวนต์เปิดตัวโครงการรถไฟระบบพลังงานไฟฟ้า หรือ “EV on Train”

บิ๊กโอ๋กดปุ่มรถต้นแบบ

โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” กับ “สจล.-สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” และ “EA-บริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน)” เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ศักดิ์สยาม รถไฟ EV

สำหรับหน่วยงานรัฐ ต้นทางมาจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV-electric vehicle) เพื่อให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบขนส่งของประเทศ

รวมทั้งนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม

กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้การรถไฟฯ ศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณี “รถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า-EV on Train” ให้มีการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า

ซึ่งได้ร่วมมือกับ สจล., และเอกชน จนเกิดรถต้นแบบคันแรกในระบบ EV on Train ที่มีการประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้

ทดสอบวิ่ง 30-100 กม.

ด้าน “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทดสอบรถต้นแบบคันแรกในระบบ EV on Train เพื่อใช้ในระบบสับเปลี่ยนขบวน (shunting)

เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสร้างรายได้ของ

การรถไฟฯ ถือเป็นรถจักรพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูงที่ผลิตโดยคนไทย

ในระยะแรก การรถไฟฯ จะนำหัวรถจักร EV on Train มาใช้ลาก เป็นบริการรถสับเปลี่ยน (shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 จากขบวนรถโดยสารทางไกลที่ยังเป็นรถไฟดีเซล

ผลการทดสอบสามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยวต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็ม 1 ชั่วโมง จากนั้นในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ 30-50 กิโลเมตร เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง

และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด 100-200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

วิ่งเร็วเฉลี่ย 25 กม./ชม.

สำหรับ “จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า” ดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ ในอนาคตมีแผนติดตั้งจุดชาร์จที่สถานีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักร EV on Train ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้ทดสอบลากจูงขบวนรถในระยะใกล้ เส้นทางไปกลับ “วิหารแดง-องครักษ์” ระยะทาง 100 กิโลเมตรมาแล้ว

รวมทั้งทดสอบวิ่งรถจักร battery ตัวเปล่าคันเดียว รวมทั้งลากขบวนรถโดยสารขึ้น และลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้ความเร็วตลอดการทดสอบเฉลี่ย 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

โลกอนาคต “รถไฟไทย”

จุดเด่นรถจักร EV on Train ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ในอนาคตหากจะใช้งานด้วยนวัตกรรมระบบ “ฟาสต์ชาร์จ” ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในระยะแรก

และ battery swapping station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง

ถือเป็นก้าวแรกของการรถไฟฯ ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการทดสอบระบบ EV on Train

ทั้งนี้ การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย

ช่วยยกระดับการเดินทางและการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม

รวมถึงประชาชนชาวไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง เปิดโลกอนาคตของรถไฟไทยยุคใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน