รถไฟฟ้าสายสีเหลือง คืบหน้าเกือบ 100% เตรียมเปิดใช้ มิ.ย. 2566

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ภาพจาก Facebook โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้าเกือบ 100% แล้ว คาดเปิดให้บริการได้ มิ.ย. 66 แก้ปัญหาการจราจรติดขัด รองรับการขยายตัวเมือง

วันที่ 16 มกราคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง” ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง

พล.อ.ประยุทธ์ได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง งบประมาณกว่า 48,125 ล้านบาท ปีลงทุน 2560-2566 ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าว มีความก้าวหน้าโดยรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 กว่า 98.09% มีกำหนดเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายน 2566

น.ส.ทิพานันกล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังเป็น ระบบรถไฟรางเดี่ยว หรือโมโนเรล โครงสร้างยกระดับทั้งสาย เพื่อลดผลกระทบในการก่อสร้าง โดยวางผังพื้นอาคารบริเวณเกาะกลางถนน อาคารสถานี มีระดับทางวิ่งสูง 15 เมตร ชานชาลากว้าง 20-25 เมตร ยาว 110 เมตร จึงใช้พื้นที่น้อย มีการเวนคืนน้อยที่สุด ทำให้ใช้งบประมาณน้อยกว่ารถไฟรางคู่

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการดังกล่าวหากแล้วเสร็จจะช่วยระบายความหนาแน่นของการจราจรในพื้นที่บริเวณลาดพร้าว, รามคำแหง, ศรีนครินทร์ จนถึงพัฒนาการ ที่ล้วนเป็นจุดที่ประสบปัญหารถติดค่อนข้างมาก โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี

เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา (สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน) กับระบบขนส่งมวลชน 4 สาย คือ สายสีเทาของกรุงเทพฯ สายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง

“ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้เร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนจากกรุงเทพฯสู่ปริมณฑล ช่วยลดความคับคั่งของการจราจร ประหยัดเวลาสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ลดมลพิษ

ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ