วิกฤตแสง…ดอยอินทนนท์ ทำสัตว์ป่าสับสน ฟ้าสว่าง24ชม. ค้างคาวมึน ไปไหนไม่เป็น !

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายศรัณย์ โปษยจินดา ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังรณรงค์เรื่องเขตอนุรักษ์ความมืดสากล ด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงระบบนิวศน์ การประหยัดพลังงาน และว่าด้วยเรื่องสุขภาพทั้งมนุษย์ และสัตว์

“ทุกวันนี้ หากเรานั่งเครื่องบินตอนกลางคืน ก่อนที่เครื่องจะร่อนลง สั่งเกตว่าในเมืองนั้นมีแสงสว่างเจิดจ้ามาก โดยประมาณครึ่งหนึ่งของความจ้าของแสงฟุ้งขึ้นไปบนท้องฟ้า ถือเป็นพลังงานที่สูญเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย สถานที่ท่องเที่ยวในธรรมชาติหลายแห่งก็เริ่มถูกบ่นจากนักท่องเที่ยวแล้วว่า บนภูเขา หลายแห่งไม่ค่อยสงบเท่าที่ควร เพราะมีแสงไฟจ้ามาก อย่างเช่นที่ดอยอินทนนท์นั้น ถึงกับบ่นว่า ตอนกลางคืนสว่างกว่าในกรุงเทพบางจุดอีก”นายศรัณย์ กล่าว

ผู้อำนวยการสดร.กล่าวว่า ความมืดนั้นเป็นความจำเป็นอีกด้านในชีวิตประจำวัน ที่มนุษย์ สัตว์ และพืช ต้องการ หลายๆพื้นที่ เช่น บนดอยอินทนนท์ ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งพยายามปรับสถานที่ให้มีความสว่างเหมือนตอนกลางวันตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยใช้หลอดไฟส่องสว่างให้กับดอกไม้ ทำให้การดำรงชีวิต ของทั้งคน และสัตว์บางชนิดเปลี่ยนไป

“บางคนหากร่างกายเผชิญกับแสงสว่างตลอดเวลา ร่างกายจะไม่ยอมพักผ่อน นอนไม่หลับ เมื่อไม่หลับระบบฮอร์โมนในตัวก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง หรือซ้ำเติมให้โรคบางอย่างมีความรุนแรงขึ้น รวมไปถึงการสิ้นเปลืองพลังงานไปโดยใช่เหตุ เพราะความสว่างที่เป็นอยู่นั้น กว่าครึ่งหนึ่งแสงฟุ้งไปบนฟ้า ซึ่งถือเป็นพลังงานที่สูญเปล่า รวมไปถึงทำให้สัตว์หลายชนิด เช่น ค้างคาว แมลง สัตว์หากินตอนกลางคืน มีความสับสนกับชีวิต เพราะไม่มีเวลาให้พวกมันหากิน”นายศรัณย์ กล่าว

ศรัณย์ โปษยะจินดา

ผู้อำนวยการสดร. กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ดอยอินทนนท์ ที่มีปัญหาเรื่องมลภาวะทางแสงอยู่ในขณะนี้จะเป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยที่จะให้ความสำคัญเรื่องการจัดการมลภาวะทางแสง และจะขยายผลไปสู่ ความเป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล เพื่อประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ การอนุรักษ์พลังงาน รวมไปถึงประโยชน์ต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยในขณะนี้ สดร. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โครงการหลวง ได้ช่วยกันดำเนินการเรื่องนี้ โดยทางกฟผ.เข้ามาช่วยเปลี่ยนหลอดไฟที่ลดการกระจายแสงขึ้นไปบนท้องฟ้าอย่างเหมาะสม ระหว่างนี้ก็จะเก็บข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาปัญหาเรื่องมลภาวะทางแสง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดในประเทศไทย การแก้ปัญหาต้องทำไปพร้อมกับการเก็บข้อมูล

ด้านนายรุ่ง หิรัญวงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หลายพื้นที่บนดอยอินทนนท์ มีปัญหาเรื่องความสว่างที่มีมากและยาวนานเกินไป บางจุดสว่างตลอด 24 ชั่วโมง เพราะชาวบ้านที่ปลูกดอกเบญจมาศต้องใช้แสงสาดเข้าไปในตัวต้นเบญจมาศ เพราะแสงสว่างมีผลต่อความสมบูรณ์ของดอกเบญจมาศ หากกลางวันยาวก้านดอกเบญจมาศจะยาวพอดี แต่หากกลางวันสั้น หรือเป็นไปตามธรรมชาติ กลางวันแค่ 12 ชั่วโมง ดอกไม้จะบานและก้านจะสั้น ทำให้ขายไม่ได้ราคา จึงต้องเพิ่มแสงให้สว่างตลอด 24 ชั่วโมง

รุ่ง หิรัญวงษ์

“การกระทำดังกล่าว ทำให้พื้นที่บางจุดบนดอยอินทนนท์ สว่างเจิดจ้าตลอดเวลา เช่น ที่บริเวณกิ่วแม่ปานนั้น แสงสว่างบนดอยเพียงจุดเดียวไม่เกิน 100 ไร่ มีมากเท่ากับ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทั้งอำเภอ โดยแสงส่วนใหญ่ กระเจิงขึ้นบนฟ้า ซึ่งเป็นความสูญเสียทางพลังงานโดยใช่เหตุ นอกจากนี้พฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดเปลี่ยนไป เช่น ค้างคาว ค้างคาว เกิดความสับสน บินไป บินมา จนหมดแรงร่วงลงมากลางอากาศ สัตว์ที่ต้องหากินตอนกลางคืน ไม่มีที่หลบภัย หรือไม่ออกมาหากิน เพราะความสว่าง ดอกไม้กลางคืนหลายชนิดไม่บาน ไม่ส่งกลิ่น และไม่ยอมออกดอก เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ แต่ผมเชื่อว่าหากเราได้เก็บข้อมูลและทำวิจัยจริงจังก็จะเห็นถึงความเสียหายจากเรื่องนี้มากขึ้น”นายรุ่ง กล่าว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลายๆฝ่ายก็พยายามหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ร่วมกัน ล่าสุดนั้น กฟผ.เข้ามาเปลี่ยนหลอดไฟ และใส่ฝาครอบเพื่อไม่ให้แสงฟุ้งกระเจิงขึ้นบนฟ้าให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหานี้ยังไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ต้องรอผลจากการเก็บข้อมูล คาดว่าอีกราว 6-7 เดือน น่าจะพอบอกได้ว่าสถานการณ์เรื่องนี้ดีขึ้นหรือไม่

 

ที่มา มติชนออนไลน์