เสาแห่งแสง ภาพถ่ายหาชมยาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติชวนชม

เสาแห่งแสง
ภาพจากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เปิดภาพถ่ายดาราศาสตร์คนไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก เสาแห่งแสง

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพถ่าย “เสาแห่งแสง” ปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากในประเทศไทยและแถบเขตร้อน

บันทึกโดย คุณธีรวัฒน์ ไชยกุลเจริญสิน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ณ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า จังหวัดระยอง เป็นภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

ปรากฏการณ์เสาแห่งแสง หรือ Light Pillars เกิดจากการที่มีผลึกน้ำแข็งรูปแผ่นแบน (plate ice crystals) จำนวนมากอยู่ในอากาศ อยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างแหล่งกำเนิดแสงและผู้สังเกต ทำให้แสงจากแหล่งกำเนิดแสงสะท้อนผิวล่างของผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ พุ่งตรงไปยังผู้สังเกต ทำให้ผู้สังเกตมองเห็นเป็นเส้นแสงในแนวดิ่ง ยิ่งผลึกอยู่สูงเท่าไร แสงยิ่งอยู่สูงเท่านั้น

ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นจัด ผลึกน้ำแข็งดังกล่าวจะล่องลอยอยู่ใกล้พื้น ทำให้เห็นเสาแสงพุ่งจากพื้นขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับในประเทศไทย การสะท้อนแสงจะเกิดขึ้นจากผลึกน้ำแข็งในเมฆระดับสูง เช่น เมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ทำให้เห็นเสาแห่งแสงปรากฏสูงจากพื้นค่อนข้างมากดังภาพ

ภาพนี้ถ่ายด้วยความบังเอิญ เนื่องจากในตอนแรกผู้ถ่ายต้องการไปเพื่อถ่ายภาพทางช้างเผือก แต่สภาพอากาศแปรปรวนและเกิดฟ้าผ่าตลอดเวลา ระหว่างนั้นก็ได้สังเกตเห็นแสงประหลาดเต็มท้องฟ้า จึงตั้งกล้องถ่ายภาพแบบไทม์แลปส์ทิ้งไว้โดยไม่ทราบว่าคือปรากฏการณ์อะไร และได้ทราบในภายหลังว่าเป็นปรากฏการณ์เสาแห่งแสง ซึ่งหาชมได้ยากในประเทศไทย

รายละเอียดการถ่ายภาพ

วัน / เดือน / ปี ที่ถ่ายภาพ : 6/6/2021

เวลาที่ถ่ายภาพ : 21:08:00

สถานที่ถ่ายภาพ : เขาแหลมหญ้า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Sony A7r3+ Sony14gm

ขนาดหน้ากล้อง  : F 1.8

เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 30 วินาที

ความยาวโฟกัส  : 14 mm

ความไวแสง : 250

ภาพ : ธีรวัฒน์ ไชยกุลเจริญสิน – รางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

ข้อมูล : ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

เสาแห่งแสง
ภาพจากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ