กรมบังคับคดี จัดทีมวิจัยศึกษาแนวทางบังคับคดี “สินทรัพย์ดิจิทัล” เผยยุโรปเริ่มแล้ว

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้มีสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้น และมีข้อพิพาทที่นำไปสู่การบังคับคดี แต่ยังไม่มีแนวทางบังคับที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น ในการประชุมนานาชาติ คองเกรส เจ้าหน้าที่บังคับคดีนานาชาติ ครั้งที่ 23 ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 1-4 พ.ค.นี้ โดยจะมีพนักงานบังคับคดี 500 คน จากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมาร่วมประชุม กรมบังคับคดีจะเข้าร่วมหารือข้อวิชาการถึงสินทรัพย์ดิจิทัลกับการบังคับคดี เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีในประเทศต่างๆ ว่ามีแนวทางในการดำเนินงานบังคับคดีกับคดีสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรบ้าง ซึ่งล่าสุดทราบว่าบางประเทศในทวีปยุโรปเริ่มบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และร่างแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อจัดเก็บภาษีรายได้และเงินปันผลที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดังกล่าว ในชั้นนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อวางแนวทางคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังได้จัดทำโครงการวิจัยถือการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย โดยจะหารือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางร่วมกัน ก่อนจะมากำหนดเป็นแนวทางของประเทศไทย ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน จะมีความชัดเจน โดยทีมวิจัยจะนัดประชุมครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) อย่างไรก็ตาม ในการบังคับคดียังต้องศึกษาให้ชัดเกี่ยวกับการบังคับคดีเงินสกุลดิจิทัล โดยในทางกฎหมายสามารถบังคับคดีกับทรัพย์ที่มีรูปร่างและทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง แต่สำหรับเงินดิจิทัลยังต้องกำหนดให้ชัดว่าจะเป็นการอายัดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้อง ในกรณีการลงทุนเงินดิจิทัลอาจต้องอายัดกุญแจดิจิตอลหรือพาสเวิร์ส

 

ที่มา : มติชนออนไลน์