สำรวจกองถ่ายหนังต่างชาติ ถ่ายทำในเมืองไทย สร้างรายได้ขนาดไหน ?

ภาพยนตร์ ถ่ายทำภาพยนตร์ กองถ่าย

สำรวจตัวเลขกองถ่ายหนังต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย สร้างรายได้ให้ประเทศไทยมากขนาดไหน? อะไรคือสิ่งดึงดูดให้กองถ่ายต่างชาติเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย?

ประเทศไทย หนึ่งในประเทศที่มีสถานที่สวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก และชาวต่างชาติเองต่างรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดีจากสถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกิน รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5F ที่รัฐบาลไทยตั้งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผลักดันให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในทุกปี มีกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ เดินทางมาที่ประเทศไทย เพื่อทำการถ่ายทำเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมตั้งแต่การถ่ายทำภาพยนตร์ ซีรีส์ จนถึงรายการโทรทัศน์รูปแบบต่าง ๆ และทำให้ประเทศไทย มีมาตรการเพื่อส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยมากขุึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจข้อมูลน่าสนใจและคิดไปข้างหน้าด้วยกัน

ครึ่งปีแรก 2566 ถ่ายแล้ว 246 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 2 พันล้านบาท

จากสถิติของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว (Thailand Film Office) ในปี 2566 (นับจนถึงเดือนมิถุนายน 2566) พบว่า มีจำนวนการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์แล้ว 246 เรื่อง จาก 32 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น

  • ภาพยนตร์โฆษณา 112 เรื่อง
  • ภาพยนตร์สารคดี 41 เรื่อง
  • มิวสิควิดีโอ 20 เพลง
  • รายการโทรทัศน์ 28 รายการ
  • รายการเกม/เรียลลิตี้ 17 รายการ
  • ละครโทรทัศน์ 2 เรื่อง
  • ภาพยนตร์ชุด (ซีรีส์) 6 เรื่อง
  • ภาพยนตร์เรื่องยาว 17 เรื่อง
  • อื่น ๆ 3 เรื่อง

โดยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติ สร้างรายได้ให้ประเทศไทย 2,334,387,887.82 บาท และมี 5 อันดับ ประเทศและเขตปกครองพิเศษฯ ที่เข้ามาถ่ายทำ และสร้างรายได้สูงสุด ดังนี้

  1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 14 เรื่อง งบประมาณ 519 ล้านบาท
  2. สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 17 เรื่อง งบประมาณ 349 ล้านบาท
  3. เขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ จำนวน 11 เรื่อง งบประมาณ 328 ล้านบาท
  4. สหราชอาณาจักรฯ จำนวน 19 เรื่อง งบประมาณ 261 ล้านบาท
  5. สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำนวน 11 เรื่อง งบประมาณ 201 ล้านบาท

และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลย้อนหลัง ช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีจำนวนกองถ่ายภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำเป็นจำนวนมาก อยู่ที่ราว 700-800 เรื่อง ก่อนที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ปี 2563 เหลือเพียงหลัก 100-300 เรื่องเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

ขณะที่ในแง่รายได้เข้าประเทศตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา จะพบว่ามีรายได้ที่มากขึ้น ยกเว้นปี 2563 ที่เจอกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นปีแรก ซึ่งรายได้ลดลงมากสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่รายได้เข้าประเทศจะเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2564 และในปี 2565 มีรายได้เข้าประเทศมากที่สุดถึง 6,364.07 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน กองกิจการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ต่างประเทศ วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำไว้ดังนี้

1. สถานที่ถ่ายทำที่มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของคณะถ่ายทำต่างประเทศ ไม่ว่าเนื้อหาจะเป็นประเทศไทย หรือต้องการสมมติเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หรือเหตุการณ์สมมติต่าง ๆ และมีสตูดิโอที่มีมาตรฐาน มีอุปกรณ์การถ่ายทำที่ทันสมัยพร้อมตอบสนองทุกความต้องการของคณะถ่ายทำจากทั่วทุกมุมโลก

2. ความเชี่ยวชาญและอัธยาศัยไมตรีของทีมงานชาวไทย ที่พร้อมทำงานกับคณะถ่ายทำต่างประเทศ ซึ่งได้รับความชื่นชมจากคณะถ่ายทำต่างประเทศเป็นอย่างมาก

3. การให้สิทธิปรโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำฯ Incentive ในรูปแบบการคืนเงิน Cash Rebate ให้กับคณะถ่ายทำที่มีเงินลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 50 ล้านบาท จำนวนร้อยละ 15 – 20 ของเงินลงทุนทั้งหมด

4. การอำนวยความสะดวกของภาครัฐ ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศได้สะดวก และรวดเร็วที่สุด รวมทั้งมีช่องทางในการยื่นขอรับบริการตรวจลงตรา (Visa) และขอรับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ณ ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทํางาน – BOI

ยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า การขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตแตกต่างกัน ดังนี้

  • โฆษณา สารคดี MV รายการท่องเที่ยว และสื่อประชาสัมพันธ์ ใช้เวลาพิจารณา 3 วันทำการ
  • ภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการเรียลลิตี้ รายการแข่งขัน ใช้เวลาพิจารณา 5-10 วันทำการ

ในขณะที่ในหลายประเทศจะมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต จำนวน 1-3 เดือน หรือมากกว่านั้น

อีกทั้งในการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ได้มีคณะกรรมการพิจารณาฯ อนุญาตโดยส่วนกลาง (กรมการท่องเที่ยว) ซึ่งสามารถดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์ได้ทั่วประเทศ ในขณะที่หลายประเทศต้องเสนอบทภาพยนตร์เพื่อให้แต่ละรัฐ/เมือง พิจารณาอนุญาตก่อนการถ่ายทำ

ซึ่งหากบทภาพยนตร์ต้องถ่ายทำใน Location หลากหลายรัฐ/เมือง ก็จะต้องขออนุญาตในแต่ละที่ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคและสร้างความยุ่งยากให้กับคณะถ่ายทำต่างประเทศเป็นอย่างมาก

เมืองไทยยังเนื้อหอม ครึ่งหลังปี 2566 มีกองถ่ายฯ รออีกเพียบ

ข้อมูลระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงครึ่งปี พ.ศ. 2566 มีคณะถ่ายทำทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการโทรทัศน์เข้ามาถ่ายทำจำนวนมาก อาทิ ซีรีส์เกาหลีที่กำลังเป็นกระแสนิยมอยู่ในขณะนี้ เรื่อง “King the Land” คณะถ่ายทำเกาหลีได้เข้ามาถ่ายทำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีสถานที่ถ่ายทำ คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ

หรือรายการโทรทัศน์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เรื่อง “Keep Running” ได้เข้ามาถ่ายทำ และแข่งขันในประเทศไทย เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีสถานที่ถ่ายทำ คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชลบุรี

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่าในช่วงเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-27 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาประเทศไทยจำนวนมากกว่า 600 คน

และมีผู้ผลิตภาพยนตร์ที่สนใจและมีแผนจะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย จำนวน 21 ราย จาก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อินเดียและออสเตรเลีย โดยมีแผนใช้เงินลงทุนรวมกว่า 3,800 ล้านบาท

รัฐจัดเต็มมาตรการ หนุนต่างชาติยกกองถ่ายมาไทย

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้กองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ตั้งแต่มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยการคืนเงิน (Cash Rebate) ซึ่งได้มีการปรับปรุงอัตราการคืนเงินให้มากขึ้น

จากเดิม ร้อยละ 15-20 เป็นร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 2 ปี และเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง

สำหรับรายละเอียดของการให้เงินคืนแก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภายในประเทศไทย เป็นดังนี้

มาตรการหลัก จำนวนร้อยละ 15 เมื่อคณะถ่ายทำมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำในประเทศไทย มากกว่า 50 ล้านบาท

มาตรการเพิ่มเติม โดยรวมกันแล้วไม่เกินจำนวนร้อยละ 5 มีจำนวน 5 แบบ

  1. ร้อยละ 5 หากภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริม Soft Power และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
  2. ร้อยละ 3 หากมีการจ้างบุคลากรหลักของไทย (Key Personnel) เป็นคณะทำงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์ อาทิ เช่น ผู้กำกับ นักแสดงหลัก เป็นต้น
  3. ร้อยละ 3 หากมีการถ่ายทำในจังหวัดเมืองรอง จำนวน 55 จังหวัด ตามนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  4. ร้อยละ 2 หากมีค่าใช้จ่ายในกระบวนการหลังการถ่ายทำ (Post – Production)
  5. ร้อยละ 5 หากเริ่มถ่ายทำในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564-31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ คณะถ่ายทำต่างประเทศจะได้รับเงินคืนจำนวนไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อเรื่อง

ภาพจาก Facebook TFO Thailand Film Office

และมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นักแสดงต่างชาติ (เฉพาะที่แสดงภาพยนตร์ซึ่งดำเนินการสร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ) เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 66 และจะมีผลบังคับในวันที่ 2 ส.ค. 66 นี้

โดยมาตรการดังกล่าว ประกาศในกฎกระทรวง ฉบับที่ 387 (พ.ศ.2566) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งระบุไว้ว่า “กำหนดให้เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะซึ่งเป็นนักแสดงภาพยนตร์ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้รับ อันเนื่องมาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ทั้งนี้ เฉพาะภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งดำเนินการสร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์”

มาตรการดึงดูดกองถ่ายฯ สร้างผลบวก-ผลลบอย่างไร ?

ในแง่ผลบวก มาตรการเหล่านี้ช่วยให้สามารถดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ให้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยได้มากขึ้น จากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ของไทย ทั้งสภาพแวดล้อม บรรยากาศการทำงาน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีความสวยงาม และช่วยสร้างเงินหมุนเวียนให้กับพื้นที่และชุมชนต่าง ๆ

รวมถึงเป็นโอกาสให้ทีมงานถ่ายทำหรือคนเบื้องหลังของประเทศไทย เพราะการเข้ามาของกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้ทีมงานคนไทย มีโอกาสในการได้เรียนรู้และพัฒนาการทำงานจากทีมงานต่างชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ทุก ๆ มาตรการที่เกิดขึ้น มีทั้งผลบวก และผลลบเกิดขึ้น

การวิจัย เรื่อง ผลกระทบของมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ต่อโอกาสในการเป็นจุดหมายการถ่ายทำภาพยนตร์ของภูมิภาคหลัง COVID -19 ของ วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ และ ศักดิ์สิทธิ์ ทวีกุล จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีการศึกษาถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว

ปัญหาหลัก ๆ ที่พบ คือ เรื่องสถานที่ ค่าเช่าพื้นที่สำหรับการถ่ายทำที่เพิ่มขึ้น เรื่องทีมงานหรือโปรดักชั่นเฮ้าส์หน้าใหม่ ขาดประสบการณ์ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเป็นมืออาชีพในการทำงาน รวมถึงปัญหาในมาตรการ ทั้งการปรับตัว ปรับการทำงานให้สอดคล้องกับระเบียบของมาตรการ และความไม่เท่าเทียมในการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ

ประเทศไทย พร้อมแค่ไหน-มีอะไรรออยู่ข้างหน้า ?

สำหรับประเทศไทย นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เหมาะกับการถ่ายทำงานรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังมีทีมงาน บุคลากรคุณภาพ ที่มีประสบการณ์การทำงานสูง และมีประสบการณ์ทำงานกับทีมต่างประเทศ

รวมถึงธุรกิจด้านการผลิตคอนเทนต์ที่มีศักยภาพสูง ตั้งแต่บุคลากรขององค์กร ไปจนถึงอุปกรณ์การทำงาน และสถานที่ถ่ายทำ โดยเฉพาะสตูดิโอถ่ายทำ ซึ่งบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่หลายราย ลงทุนหลักพันล้านบาทในการสร้างสตูดิโอบนมาตรฐานการถ่ายทำที่เป็นมาตรฐานสากล ทั้งอุปกรณ์การถ่ายทำ และการออกแบบพื้นที่สตูดิโอ

และที่ผ่านมาเอง ประเทศไทยได้รับเลือกจากกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศหลาย ๆ เรื่องที่มีชื่อเสียง เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ตั้งแต่ภาพยนตร์ ละครซีรีส์ จนถึงโฆษณาต่าง ๆ

แต่ความท้าทายที่ต้องจับตามอง คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและโปรดักชั่นเฮ้าส์ โดยเฉพาะโปรดักชั่นเฮ้าส์หน้าใหม่ ให้มีความสามารถและการทำงานที่มืออาชีพมากขึ้น ควบคู่กับการดูแลคนทำงานทั้งกองถ่ายภาพยนตร์ จนถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทุกประเภท ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ไปจนถึงความท้าทายจากต่างประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง ให้มีคุณภาพและทันสมัยทัดเทียมต่างประเทศ และมาตรการต่าง ๆ ของต่างประเทศที่แข่งขันกันเพื่อผลักดันให้เข้ามาถ่ายทำมากขึ้น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐต้องสร้างความโปร่งใส ชัดเจน และคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ในการขออนุญาตการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ มีกรณีการฟ้องร้องเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ “เดอะบีช” ที่สร้างความเสียหายให้กับ อ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องในเวลาต่อมา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องเร่งจัดการ คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤาภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหลาย ๆ ธุรกิจต่างเฝ้ารอโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ ไปจนถึงนโยบายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยปัญหาดังกล่าว กระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจต่าง ๆ ทั้งธุรกิจในไทยและธุรกิจต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาลงทุนในไทย

จากนี้ ต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติได้มากขนาดไหน และอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย จะมีการพัฒนาไปในทิศทางไหน และต่อสู้กับต่างประเทศได้อย่างไร