กรมอุตุฯ อัพเดตพายุล่าสุด เผยภาพ 2 ลูกใหม่ เตือนรับมือ “ฝนตกหนัก”

กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตเส้นทางพายุ 3 ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุเซาลา ไหขุย และพายุดีเปรสชันลูกใหม่ที่กำลังก่อตัว เตือนไปจีนตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง ขณะที่ไทยมีฝนตกหนักช่วง 30 ส.ค.ถึง 5 ก.ย. นี้ อิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตเส้นทางพายุเช้าวันนี้ จาก RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เช้าวันนี้ (30/8/66) ว่า ขณะนี้ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้น 3 ลูก ได้แก้ พายุไต้ฝุ่น “เซาลา” กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก (ทางตอนใต้เกาะไต้หวัน) พายุ โซนร้อน “ไห่ขุย (HAIKUI)” กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ และพายุดีเปรสชัน ก่อตัวใหม่ คาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้น

พายุทั้ง 3 ลูก ยังอยู่ห่างและไม่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงยังไม่มีผลกระทบในขณะนี้ เพียงแต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ฝนที่เกิดขึ้นในระยะนี้จะมาจากมรสุมและร่องมรสุมที่พาดผ่าน (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

เตือน 24 ชม.ข้างหน้า ฝนตกหนักหลายพื้นที่

สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (30 ส.ค. 66): ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

Advertisment

และในขณะนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีพายุเกิดขึ้น 3 ลูก แต่ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เพียงแต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ฝนที่เกิดขึ้นในระยะนี้ จะมาจากมรสุมและร่องมรสุมที่พาดผ่าน (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

พายุ ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก และร่องมรสุมที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน
แผนที่อากาศพื้นผิว- ร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบน-ภาคกลางของไทย และพายุ 3 ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย

พยากรณือากาศ 7 วัน30 สิงหาคม -5 กันยายน 2566
คาดหมายอากาศ 7 วันข้างหน้า 30 สิงหาคม-5 กันยายน 2566

 

Advertisment

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-5 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

เส้นทางพายุ 3 ลูกในมหาสมุรแปซิฟิก
เส้นทางพายุ 3 ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “เซาลา” (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย. 66 นี้ และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ย. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ภาพพายุ 3 ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก
ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกฝั่งในช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 3 ก.ย. 66 ไว้ด้วย

ขณะที่สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (29 – 30 ส.ค. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.4, 3.9, 3.5, 3.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ขนาด 3.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 3.9 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

พื้นที่เตือนภัยฝนตกหนัก
กรมอุตุฯเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักในภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้บางส่วน