เปิดประวัติ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มือปราบสายธรรมะ

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน)

เปิดประวัติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ “บิ๊กต่อ” แคนดิเดต ผบ.ตร.คนที่ 14 เป็นน้องชายพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ถูกเรียกว่าเป็นมือปราบสายธรรมะ

วันที่ 27 กันยายน 2566 การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตร. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 ในวันนี้ 1 ใน 4 แคนดิเดตลุ้นนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. คนใหม่ มีชื่อ ของ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล”​ หรือ “บิ๊กต่อ” รวมอยู่ด้วย

ขณะที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2566 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาการประชุมกว่า 3.30 ชั่วโมง ว่า

ที่ประชุม ก.ตร.ที่มีมติเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ ทดแทนพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2566 แต่เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนธุรการเพื่อเตรียมการทูลเกล้ากราบบังคมทูล จึงไม่สามารถเปิดเผยได้

ขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่รายงานชื่อตรงกันว่าเป็น “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

นายกฯเศรษฐามาประชุม ก.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน

สำหรับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มีชื่อเล่นว่า “ต่อ” หรือ “บิ๊กต่อ” เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เป็นน้องคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน และเป็นน้องชายของ พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวัง

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เรียนในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนพันธะศึกษา จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็น “สิงห์แดง” รุ่นที่ 38 และจบปริญญาโท ศิลปศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ร่วมประชุม ก.ตร.
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีร่วมประชุม ก.ตร. (ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน)

ก่อนเข้ารับราชการเป็นตำรวจในปี 2540 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยเป็น “พนักงานบริษัท” บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ แต่ทำงานอยู่ได้ 7 ปีก็ตัดสินใจลาออก เพื่อเดินหน้าทำตามความฝันคือการเป็นตำรวจ และเข้ารับอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เริ่มต้นทำงานในเส้นทางตำรวจในตำแหน่ง “รองสารวัตร” กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 จากนั้นโยกย้ายมาเป็นรองสารวัตรที่กองปราบปราม แล้วขึ้นไปเป็น “สารวัตร” ที่ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะโยกกลับมาเป็นสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบฯ และได้ขึ้นเป็นรองผู้กำกับ ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ และรองผู้บังคับการปราบปราม ตามลำดับ

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ได้ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผู้กำกับการ” เป็นครั้งแรกในปี 2559 ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ครบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการครองตำแหน่งตาม ก.ตร. เพราะนับตั้งแต่นั้นมา ทุกตำแหน่งที่เขาขยับขึ้น ล้วนได้รับการเว้นหลักเกณฑ์จาก ก.ตร. ทั้งสิ้น

และการเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ใช้เวลาเพียง 4 ปี กับ 3 เดือนเศษ ในการเลื่อนตำแหน่งจากผู้กำกับการ ยศ พ.ต.อ. มาเป็น “บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง” ยศ พล.ต.ท.

บิ๊กต่อ- พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ประชุม ก.ตร.
ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ หรือบิ๊กต่อ เคยให้สัมภาษณ์ว่า การได้เป็นเด็กวัดเดินตามพระ ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ทำให้คิดได้ว่าเมื่อถอดเครื่องแบบออก เราก็แค่คนธรรมดา ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใครหรือใหญ่โตแค่ไหน

ในแง่การบริหารงาน-บริหารคน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้ใช้หลักรัฐศาสตร์มาบริหารงาน โดยในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้กำกับการคอมมานโด ก็ได้จัดระเบียบหน่วยใหม่ และเน้นสวัสดิการให้ลูกน้อง จึงทำให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นที่รักของลูกน้อง

“บิ๊กต่อ” ยังมีผลงานที่สำคัญ เช่นการจัดฝึกอบรม “แอคทีฟ ชูตเตอร์” ให้ความรู้ตำรวจทั้งสายงานปราบปราม-หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับมือเหตุเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุกราดยิง ควบคู่กับการต่อยอดความรู้ไปยังสถานศึกษา และหน่วยงานอื่น กลายเป็นหลักสูตรที่รู้จักแพร่หลาย

นอกจากนี้ยังเป็นผู้จุดประกายนำปืน “ช็อตไฟฟ้า” ลดความสูญเสียของผู้ปฏิบัติ กระทั่งการได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขเรื่องอาวุธปืนหลวง ปัดฝุ่นระเบียบปืนสวัสดิการ นำ QR Code มาใช้ตรวจสอบและติดตามแก้ปัญหาลักลอบนำปืนหลวงออกไปขาย เป็นต้น

ระหว่างการรับราชการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนสายตำรวจและอาชญากรรมว่า เป็น “มือปราบสายธรรมะ” จากภาพที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มักจะเป็นนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงาน บางครั้งจะเห็นภาพของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ พับทำดอกบัวด้วยตัวเองในขณะนั่งอยู่ในรถระหว่างไปทำงาน ซึ่งท่านระบุว่าเป็นการฝึกเรื่องของสมาธิ และมักเดินสายปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานในส่วนของการเป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.), ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)

พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน)

การขึ้นสู่ตำแหน่ง

-1 ตุลาคม 2561 – ผู้บังคับการกองบังคับการถวายปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ตามลำดับ)
-1 ตุลาคม 2562 – รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
-1 ตุลาคม 2563 – ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
-1 ตุลาคม 2564 – ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
-1 ตุลาคม 2565 – รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ