น้ำท่วมเหนือ รถไฟพลิกตกราง การสัญจรเป็นอัมพาต ก.คมนาคม เร่งแก้สถานการณ์

น้ำท่วมภาคเหนือ รถไฟพลิกตกราง การสัญจรถนนหลายสายอัมพาต ก.คมนาคม สั่งเร่งแก้สถานการณ์

“สุริยะ” ขานรับข้อสั่งการนายกฯ หลังเกิดเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ ส่งผลให้ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรไปมา-รถไฟพลิกตกราง สั่งทุกหน่วยงานคมนาคมติดตามสถานการณ์โดยด่วน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนทุกมิติอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชม. และเตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

วันที่ 30 กันยายน 2566 จากสถานการณ์ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น อ.เด่นชัย อ.ลอง อ.สูงเม่น และ อ.เมืองแพร่ ส่งผลให้ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมขังส่งผลทำให้การจราจรติดขัด รถไม่สามารถขับผ่านสัญจรได้ตามปกติ รวมถึงเกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมทางรถไฟระหว่างช่วงแก่งหลวง – บ้านปินขาดระยะทางประมาณ 20 เมตร ทำให้รถไฟด่วนพิเศษขบวนที่ 13 เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ เกิดอุบัติเหตุตกรางพลิกตะแคง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งกีดขวางการเดินรถนั้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.แพร่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมถนนหลายสาย รวมถึงเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟนั้น ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์โดยเร่งด่วน และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ให้เร่งดำเนินการตามแผนป้องกัน เยียวยาสาธารณภัย และบูรณาการการดำเนินการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลต่างๆ และรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบในทันที รวมถึงผลกระทบจากอุทกภัยต่อการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำทางราง และทางอากาศ รวมถึงการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ กำชับให้ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเสี่ยงบริเวณสายทางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนภายใน 24 ชั่วโมง (ชม.)
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ตนยังได้สั่งการให้ทุกหน่วย เตรียมความพร้อมถึงผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมในขั้นตอนการป้องกัน (ก่อนเกิดภัย) การเผชิญเหตุ (ขณะเกิดภัย) และขั้นการฟื้นฟู (หลังเกิดภัย) เพื่อบรรเทา แก้ไข หรือคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้ประสบเหตุอุทกภัย สามารถขอรับการช่วยเหลือจากกระทรวงฯ ได้ที่สายด่วนติดต่อขอความช่วยเหลือ (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.) ได้แก่ สายด่วน 1356 กระทรวงคมนาคม, สายด่วน 1586 กรมทางหลวง, สายด่วน 1146 กรมทางหลวงชนบท, สายด่วน 1690 การรถไฟแห่งประเทศไทย และสายด่วน 1199 กรมเจ้าท่า