BITE SIZE : รวบตึงเรื่องสำคัญเกี่ยวกับ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 16 ตุลาคม 2566 อนุมัติให้ดำเนินนโยบาย ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยนำร่องที่รถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่)

แน่นอนว่า นี่คือหนึ่งในนโยบายที่ผู้คน โดยเฉพาะชาว กทม.-ปริมณฑล ต่างตั้งตารอคอย ไม่ต่างกับการแจกเงินดิจิทัล หรือการลดราคาน้ำมัน

แต่หลาย ๆ คน อาจสงสัยกันว่า มันจะ 20 บาทได้ยังไง ต้องทำยังไงถึงจ่ายแค่ 20 บาทได้

Prachachat BITE SIZE รวบตึงเรื่องสำคัญไว้ในบทความนี้

ปรับค่าโดยสาร จ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน โดยตอนนี้ มี 2 สายรถไฟฟ้าเข้าร่วมนโยบายนี้ คือ

  • รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต, สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน)
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่)

ผู้ที่โดยสารรถไฟฟ้าใน 2 สายนี้ สามารถจ่ายค่าโดยสารได้ในราคาสูงสุด 20 บาทต่อการเดินทาง 1 เที่ยว

หลายคนอาจสงสัยต่อไปว่า ถ้าเดิมเสียไม่เกิน 20 บาท หลังเริ่มนโยบายนี้แล้ว จะต้องจ่ายค่าโดยสาร 20 บาทด้วยหรือไม่ ? ทำความเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

  • หากเดิมเราเสียค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท เสียค่าโดยสารตามจริง เหมือนเดิม
  • หากเดิมเสียค่าโดยสารเกิน 20 บาท จ่ายแค่ 20 บาทตลอดสาย ต่อ 1 เที่ยว (ไปหรือกลับ เท่านั้น)

สำหรับผู้ที่มีสิทธิลดหย่อนค่าโดยสาร ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ (เด็ก ผู้สูงอายุ และพระภิกษุ รับส่วนลด 50% | นักเรียนและนักศึกษา รับส่วนลด 10%)

หากค่าโดยสารหลังใช้สิทธิไม่เกิน 20 บาท จ่ายตามสิทธิที่ได้รับ แต่หากใช้สิทธิแล้วยังเกิน 20 บาท ก็จ่ายแค่ 20 บาทเท่านั้น ราคาเดียวตลอดสาย

โดยอัตราค่าโดยสารใหม่ ของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย หลังเริ่มนโยบายค่ารฤไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเป็นดังนี้

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

  • บุคคลทั่วไป 12-20 บาท
  • เด็ก/ผู้สูงอายุ 6-20 บาท
  • นักเรียน/นักศึกษา 11-20 บาท

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

  • บุคคลทั่วไป 14-20 บาท
  • เด็ก/ผู้สูงอายุ 7-20 บาท
  • นักเรียน/นักศึกษา 13-20 บาท

วิธีจ่ายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จ่ายยังไง ?

สำหรับการจ่ายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเนี่ย ถ้าเดินทางในสายเดียวกัน จ่ายได้ทุกรูปแบบ
ทั้งเงินสด บัตรโดยสารแบบเติมเงิน และบัตร EMV Contactless หรือบัตรเดบิต/บัตรเครดิต/บัตรเอทีเอ็มที่เราคุ้นเคย

สำหรับบัตร EMV Contactless นั้น รถไฟฟ้าแต่ละสาย มีการรองรับที่แตกต่างกัน ดังนี้

รถไฟฟ้าสายสีแดง

  • รองรับการแตะบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด
  • รองรับบัตรวีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เจซีบี (JCB) และยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ทุกธนาคาร
  • ผู้ใช้บัตรโดยสารประเภทบัตรเหมาจ่าย “TRANSIT PASS RED LINE X BMTA” ที่เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. จะไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

  • บัตรเครดิต วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของทุกธนาคารผู้ออกบัตร
  • บัตรเดบิต ซึ่งขณะนี้รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (รวมบัตรเดบิต UOB TMRW)
  • บัตรประเภทพรีเพด (Prepaid Card) หรือบัตรทราเวลการ์ด (Travel Card)

สำหรับวิธีสังเกตบัตร EMV Contactless คือ สังเกตบนบัตรธนาคารของคุณว่า มีสัญลักษณ์เป็นรูปคลื่น Wi-Fi แบบนี้หรือไม่ ?

ถ้ามีสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้บัตรใบนั้นแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าได้ทันที แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละราย

แต่หากเป็นเดินทางข้ามสาย ระหว่างสายสีม่วง กับ สายสีแดง ซึ่งจะเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน ต้องใช้บัตรเดบิต/เครดิตของคุณ แตะเข้า-ออกเท่านั้น และต้องเปลี่ยนสายภายในระยะเวลา 30 นาที หากระยะเวลาเลยจากนั้น ต้องเริ่มเสีย 20 บาทใหม่อีกครั้ง

โดยการเปิดให้เดินทางข้ามสาย จ่าย 20 บาทตลอดสายได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากต้องปรับระบบซอฟต์แวร์ให้รองรับการคิดค่าโดยสารแบบข้ามสาย

เร่งเจรจาเอกชน ร่วม “20 บาทตลอดสาย”

สำหรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเนี่ย ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้ดำเนินการได้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2567 หลายคนสงสัยต่อไปว่า นโยบายนี้ ให้แค่ปีเดียวเองเหรอ ?

สำหรับเรื่องนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี

โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น

เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป และประกาศว่า จะเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป

ส่วนเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ นั้น นายสุริยะระบุว่า หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมาย 2 ปีที่ตั้งไว้

เร่งดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม-พ.ร.บ.ขนส่งทางราง

นายสุริยะ ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน จะเร่งผลักดัน 2 ร่าง พรบ. ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ….. (ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….. (ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

โดย 2 ร่างนี้ จะทำให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจเต็มที่ ในการเข้าไปเจรจากับภาคเอกชน และสามารถจัดตั้งกองทุน เพื่อนำรายได้มาจ่ายชดเชยให้เอกชน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ และไม่ต้องใช้กระบวนการในการเจรจาต่อสัญญากับเอกชน

ขณะที่ประโยชน์นั้น เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละรายหันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกัน ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนได้ รวมทั้งเพื่อให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาไม่แพงและเป็นธรรมทั้งกับประชาชนและผู้ประกอบการเดินรถ

นายสุริยะ ระบุอีกว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอ ครม.ได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะใช้เวลากว่า 1 ปี ในการพิจารณาแล้วเสร็จ

จากนี้ รอดูกันต่อไปว่ารถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ รอนานแค่ไหน ถึงได้ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย และผลตอบรับของนโยบายดังกล่าวนับจากนี้ จะเป็นอย่างไร

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.25 ได้ที่ https://youtu.be/x7up2-4h0XA