เปิดเงื่อนไข รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ต้องทำอย่างไร ?

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

เปิดเงื่อนไข นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มต้น 2 สี สายสีแดง (ตลิ่งชันบางซื่อ-รังสิต) และสายสีม่วง จ่ายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย มีเงื่อนไขอย่างไร อัตราค่าโดยสารเป็นอย่างไร

ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 16 ตุลาคม 2566 อนุมัตินโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) โดยมีผลตั้งแต่ 11.00 น. ของวันเดียวกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปเรื่องสำคัญเกี่ยวกับนโยบายนี้ที่คุณควรรู้

อัตราค่าโดยสารใหม่ เป็นอย่างไร ?

สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง จะเปลี่ยนเป็นดังนี้

รถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต)

  • อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท (นักเรียน-นักศึกษา 11 บาท, เด็ก-ผู้สูงอายุ 6 บาท)
  • อัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย (เดิมอัตราค่าโดยสาร สูงสุด 42 บาท)

รูปแบบการคิดค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีแดง

  • ผู้โดยสารทั่วไปที่เดินทางตามระยะทางที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 บาท ชำระค่าโดยสารตามจริง
  • ผู้โดยสารทั่วไปที่เดินทางตามระยะทางที่มีมูลค่าเกิน 20 บาท ชำระค่าโดยสารเพียง 20 บาท
  • ผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิลดหย่อน แบ่งเป็น 2 กรณี
    • เดินทางตามระยะทางมีมูลค่าการเดินทางเกิน 20 บาท ชำระค่าเดินทางเพียง 20 บาทเท่านั้น
    • เดินทางตามระยะทางมีมูลค่าเดินทางไม่เกินราคา 20 บาท คงได้รับสิทธิลดหย่อนตามปกติ (เด็ก ผู้สูงอายุ และพระภิกษุ รับส่วนลด 50% | นักเรียนและนักศึกษา รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารเดิม)

รถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน)

  • อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท (นักเรียน-นักศึกษา 13 บาท, เด็ก-ผู้สูงอายุ 7 บาท)
  • อัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย (เดิมอัตราค่าโดยสาร สูงสุด 42 บาท)

รูปแบบการคิดค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีม่วง

  • บุคคลทั่วไป 14-20 บาท
  • เด็ก/ผู้สูงอายุ 7-20 บาท
  • นักเรียน/นักศึกษา 13-20 บาท

จ่ายค่าโดยสาร 20 บาทได้ทั้งเงินสด-บัตร EMV

สำหรับการจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น สามารถจ่ายได้ทั้งเงินสด บัตรโดยสารประเภทต่าง ๆ ของแต่ละสาย ไปจนถึงบัตรเดบิต/บัตรเครดิตของธนาคารต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ดังนี้

รถไฟฟ้าสายสีแดง

  • รองรับการแตะบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด
  • รองรับบัตรวีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เจซีบี (JCB) และยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ทุกธนาคาร
  • ผู้ใช้บัตรโดยสารประเภทบัตรเหมาจ่าย “TRANSIT PASS RED LINE X BMTA” ที่เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. จะไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

  • บัตรเครดิต วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของทุกธนาคารผู้ออกบัตร
  • บัตรเดบิต ซึ่งขณะนี้รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (รวมบัตรเดบิต UOB TMRW)
  • บัตรประเภทพรีเพด (Prepaid Card) หรือบัตรทราเวลการ์ด (Travel Card)

ใช้บัตรเดบิต-บัตรเครดิต เดินทางข้ามสาย จ่ายแค่ 20 บาท

สำหรับกรณีการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ของ รฟม. และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของ ร.ฟ.ท. ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน

โดยเงื่อนไขการจ่ายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทนั้น ผู้โดยสารต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless (บัตรเครดิต-บัตรเดบิต) ชำระค่าโดยสาร และเดินทางเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาทีเท่านั้น ไม่สามารถใช้เงินสดจ่ายได้

ทั้งนี้ การคิดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย กรณีเดินทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง จะเริ่มต้นได้ภายในพฤศจิกายน 2566 เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับระบบคิดค่าโดยสารให้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อทั้ง 2 สาย

จ่าย 20 บาทถึง 30 พ.ย. 2567-ประเมินปีต่อปีเพื่อพิจารณามาตรการ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติ มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟฟ้า 2 สาย ดังนี้

  • รถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการไฟแห่งประเทศไทย
  • รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

โดยจะมีผลเริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ทั้ง 2 สายรถไฟฟ้า เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

พร้อมทั้งให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป