ฤดูฝุ่น PM 2.5 รอบใหม่ เผาในที่โล่ง-ไอเสียรถดีเซล ตัวการใหญ่

ฤดูฝุ่น PM 2.5 รอบใหม่ เผาในที่โล่ง-ไอเสียรถดีเซล ตัวการใหญ่

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูกาลของ ฝุ่น PM 2.5 อีกครั้งหลังจากฤดูฝนกำลังจะหมดไป โดยปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแจ้งเตือนเริ่มมีค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแล้ว โดยระดับค่าฝุ่นจะเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไป ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 กำหนดให้ PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)

ดัชนีคุณภาพอากาศ

ขณะที่เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ด้วยการแจ้งเตือนใช้สีเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งมีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึงมากกว่า 200 โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 มีค่าเทียบเท่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่า ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน โดยมีระดับการแจ้งเตือนพร้อมข้อควรปฏิบัติของประชาชน ดังต่อไปนี้

AQI 0-25 สีฟ้า (คุณภาพอากาศดีมาก) ปรับค่าใหม่ ฝุ่น PM 2.5 มีค่า 0-15 มคก./ลบ.ม. (เดิม 0-25 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ AQI 26-50 สีเขียว (คุณภาพอากาศดี) ปรับค่าใหม่ ฝุ่น PM 2.5 มีค่า 15-25 มคก./ลบ.ม. (เดิม 25-37 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ

AQI 51-100 สีเหลือง (คุณภาพอากาศปานกลาง) ปรับค่าใหม่ ฝุ่น PM 2.5 มีค่า 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. (เดิม 38-50 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปลดระยะเวลาการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก หากมีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์

AQI 101-200 สีส้ม (คุณภาพอากาศเริ่มมีผลต่อสุขภาพ) ปรับค่าใหม่ ฝุ่น PM 2.5 มีค่า 37.6-75 มคก./ลบ.ม. (เดิม 51-90 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก

Advertisment

และ AQI 201 ขึ้นไป สีแดง (คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพ) ปรับค่าใหม่ ฝุ่น PM 2.5 มีค่า 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป (เดิม 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ให้ประชาชนทุกคนงดกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ในที่โล่ง ยานพาหนะและการขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศ ฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เฉพาะประเทศไทยพบว่า ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 นั้นมาจาก การเผาในที่โล่ง และกิจกรรมการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล หรือเครื่องจักรกล รวมทั้งรถบรรทุก และรถปิกอัพ

จากข้อเท็จจริงที่ว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปีจากแหล่งกำเนิดฝุ่นข้างต้น แต่ที่จะเป็นปัญหาตามเกณฑ์ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของประเทศไทย ที่มีค่า AQI 201 “สีแดง” ขึ้นไปนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวปลายปี ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้งของปีถัดไป เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ ไม่ได้ถูกขจัดออกไป

ทั้งจากฝนตก อากาศนิ่ง ไม่มีลมพัดจากเมืองออกสู่ทะเล ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 ตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศครอบคลุมเมืองมากขึ้น ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ก็จะเกิดเหตุการณ์เผาในที่โล่งเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร การเผาไร่อ้อยก่อนลงมือเก็บเกี่ยว และการเผาข้ามแดนในประเทศเพื่อนบ้าน จนมีฝุ่นควันมลพิษลอยข้ามแดน

Advertisment

นอกจากนี้ สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ยังมาจากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถปิกอัพและรถบรรทุก จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก ในปี 2565 รวมรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พบว่ามีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด 582,463 คัน

ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 260,763 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 20,797 คัน และรถบรรทุกส่วนบุคคล 299,414 คัน แต่หากเป็นรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกจะพบว่า มีรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนใหม่ 61,540 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถบรรทุกถึง 61,540 คัน

จากตัวเลขยอดจดทะเบียนรถใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเฉพาะปี 2565 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM 2.5 แสดงให้เห็นว่า ยังมีการจดทะเบียนรถใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ “ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย” เมื่อเปรียบเทียบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 100% หนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาให้ความสำคัญที่จะเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปรากฏมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้านั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 50,004 คัน

ขณะที่ยอดจดทะเบียนรวมรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง รถยนต์นั่ง รถมอเตอร์ไซค์ รถบรรทุก และรถโดยสาร มียอดจดทะเบียนรวมกันทั้งสิ้น 66,544 คัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมา ที่มียอดจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 20,816 คัน หรือเติบโต 260% คิดเป็นอัตราส่วนที่ยังตามหลังรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ตัวการฝุ่น PM 2.5 อีกมาก

จับตาเผาไร่อ้อย

สำหรับสถานการณ์การเผาในที่โล่งนั้นมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2567 จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาอ้อย จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในปีที่ผ่านมา (วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566) พบว่า ยังมีการลักลอบเผาอ้อยในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 29.81 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด นับจากวันที่เปิดหีบจำนวนกว่า 15 ล้านตัน หรือเทียบเท่าได้กับการเผาป่าจำนวน 1.5 ล้านไร่

ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่นผิดปกติในหลายพื้นที่ ทั้งในภูมิภาคและกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน โดยจังหวัดที่มีการลักลอบเผาอ้อยมากที่สุด 15 ลำดับ ได้แก่ นครราชสีมา, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, เพชรบูรณ์, ขอนแก่น, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, นครสวรรค์, กาญจนบุรี, เลย, หนองบัวลำภู, ลพบุรี, สระแก้ว, ชัยภูมิ และมุกดาหาร

แม้รัฐบาลจะมีแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง และแผนปฏิบัติการเร่งด่วนกำหนดการเผาอ้อยในฤดูกาลผลิต 2565/2566 ให้เป็น 0% ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าแผนปฏิบัติการเหล่านี้ยังใช้ไม่ได้ผล

ทั้งจากจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำการเกษตรและการเผาไร่อ้อยก่อนที่จะนำอ้อยส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ยังเกิดขึ้นและพบเห็นได้เสมอ ๆ มีผลทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะไม่ดีไปกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ทั้ง ๆ ที่การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นนั้น ได้ถูกบรรจุไว้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562

ตั้งศูนย์มลพิษทางอากาศ

สำหรับการเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาล ในการประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2566 ที่ประชุมได้เห็นชอบ มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567” พร้อมทั้งได้เสนอคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า

การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ให้เป็นกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร และหมอกควันข้ามแดน โดยมีการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมามากนัก

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งได้เห็นชอบ ร่างรายงานสถานการณ์ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2566 เพื่อใช้ในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลการประเมินดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (EPI) ของประเทศไทย ใน 3 แนวทาง และเห็นชอบ ร่างแผนการบริหารจัดการ EPI ของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล

ล่าสุดได้มีการตั้ง ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีรายงานสถานการณ์ประจำวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook Live และมีการรายงานสถานการณ์ประจำสัปดาห์ พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้าด้วย