หมอชลน่าน ชี้เกณฑ์กำหนดถือครองยาบ้า ควรดูพฤติกรรมเป็นหลัก

ชลน่าน ศรีแก้ว

หมอชลน่าน ให้สัมภาษณ์ประเด็นเกณฑ์กำหนดถือครองยาบ้า ชี้ควรดูที่พฤติกรรมเป็นหลัก เตรียมความพร้อมกลุ่มงานจิตเวชระดับจังหวัด-อำเภอ รับมือผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพิ่มจำนวน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 มติชน รายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอออกประกาศกำหนดยาบ้า 10 เม็ด เป็นผู้เสพ ว่า เราไม่ได้มีเจตนาแก้กฎกระทรวง จริงๆ คือ หลังมีกฎหมายประมวลยาเสพติด 2564 การออกกฎกระทรวงเป็นหน้าที่ รมว.สธ. ขณะนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงมารองรับ

โดยกฎหมายใหม่เน้นการให้โอกาสคนเกี่ยวข้องยาเสพติด เพราะเชื่อว่าวิธีการเดิม ใช้กฎหมายเข้มข้นบังคับบำบัดไม่ได้ผล จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น จำนวนผู้เกี่ยวข้องยาเสพติด ผู้เสพ ผู้ขายเพิ่มขึ้น จึงแก้กฎหมายเดิมมาเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด เน้นให้โอกาสคนกลับคืนสู่สังคม อยู่ในสังคม อยู่ครอบครัวได้

“หลักการคือทำอย่างไรให้โอกาสตรงนี้ วิธีการที่มีอยู่ขณะนี้ ป้องกันปราบปรามบำบัดฟื้นฟู เป็นช่องทางคืนคนสู่สังคม เชื่อว่าบำบัดรักษาฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคมได้ เป็นหลักการกฎหมายฉบับนี้ คือ ผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การบำบัดรักษาฟื้นฟู และสมัครใจ ไม่บังคับบำบัด เพราะต้องการให้โอกาสเป็นคนดี

ถ้าสมัครใจเข้ารับบำบัดฟื้นฟูจะไม่มีโทษอาญา ถ้าไม่บำบัดรักษามีโทษตามกฎหมายบัญญัติ จึงเป็นเหตุกำหนดปริมาณเม็ดยา เพื่อเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพเพื่อตีเป็นผู้ป่วย นอกเหนือจากนี้สันนิษฐานเป็นผู้ค้ามีโทษหนักกว่า” นพ.ชลน่านกล่าว

พร้อมพิจารณาข้อเสนอ ลดเกณฑ์เหลือ 5 เม็ด

เมื่อถามถึงข้อเสนอกำหนดปริมาณเหลือ 5 เม็ด เพราะกังวลว่าจะเพิ่มผู้ค้ารายย่อย ต้องพิจารณาไหม นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราพร้อมพิจารณา เพราะยังไม่ประกาศ อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือ มหาดไทย ตำรวจ  ป.ป.ส. ยุติธรรม และ สธ. พิจารณาร่วมกัน ยาบ้าจำนวนเม็ดยาเหมาะสมเท่าไร สธ.ใช้เหตุผลทางการแพทย์ คือ ยาบ้าออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อันตรายต่อร่างกายและสังคม

เหตุผลอื่น มหาดไทย ตำรวจ ยุติธรรมมาเป็นเหตุผลรองรับด้านมิติเศรษฐกิจ สังคม เช่น โอกาสมีเงินจับจ่ายซื้อยาบ้ามากน้อยแค่ไหน วิธีการซื้อขาย จำนวนเม็ดยาที่ซื้อขายและเสพ การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่พอหรือไม่ เอาคนเข้าคุกเข้าขัง กับเปลี่ยนการขังเป็นบำบัดรักษา คุกเป็นค่ายฟื้นฟูอะไรดีกว่ากัน ต้องมาชั่งใจ

ซึ่ง สธ.เน้นเปลี่ยนการขังเป็นบำบัดรักษา เพราะเชื่อว่าคืนคนดีสู่สังคม เปลี่ยนคุกเป็นค่ายฟื้นฟู ให้โอกาสเปลี่ยนพฤติกรรม รักษาการมีอาชีพและสถานะสังคมที่ดี

เตรียมความพร้อม พื้นที่ดูแลผู้เสพเป็นผู้ป่วย

เมื่อถามถึงสถานที่รองรับหลังกำหนดเม็ดยาบ้าจะดูแลเพียงพอหรือไม่ หากผู้เสพเป็นผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น  นพ.ชลน่านกล่าวว่า  เราถึงประกาศควิกวิน 100 วัน ให้มี มินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ และกลุ่มงานจิตเวชทุก รพ.ชุมชน มั่นใจเครือข่ายของ สธ.พร้อมก็เกือบ 100% แล้ว ค่ายบำบัดของชุมชน เราก็มีส่วนร่วมกัลมหาดไทยเป็นศูนย์บำบัดและมีความพร้อม

“สิ่งที่อยากฝาก คือ การกำหนดจำนวนเม็ดยาสันนิษฐานว่าเสพ มากกว่านั้นสันนิษฐานว่าค้า เราใช้คำว่าสันนิษฐาน หมายความว่าต้องไปดูพฤติกรรมด้วย แม้ถือครอง 1 เม็ดแต่มีพฤติกรรมค้าก็เป็นผู้ค้า ไม่ได้สิทธิเป็นผู้ป่วย เรารักษาผู้ป่วยทุกคนก็จริง จะถือครอง 5 เม็ด 10 เม็ด 100 เม็ด หากเข้ากระบวนการรักษาเราก็รักษา แต่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายเรื่องการค้านำเข้าส่งออกก่อน” นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่าก่อนหน้านี้เรากำหนด 10 เม็ดก็มีเหตุผลรองรับ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยังไม่กำหนดกี่เม็ด ซึ่งกรรมการจะคุยกันพรุ่งนี้ ซึ่ง 10 เม็ดเป็นข้อเสนอกรรมการบางส่วนบางท่าน ซึ่งจากเดิม 15 เม็ด บางคนเสนอ 5 เม็ด 2 เม็ด ก็มาประมวลกันดูภายใต้เหตุผลดังกล่าว ซึ่งข้อสรุปก็ขึ้นกับกรรมการหากมีเหตุผลต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก็บังคับไม่ได้ แต่ถ้าลงตัวก็น่าจะได้ข้อสรุป