ไทยเตรียมเสนอ “ชุดไทย-มวยไทย” พิจารณาเป็นมรดกวัฒนธรรมโลก

ชุดไทย มวยไทย มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
ภาพจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

คณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พิจารณาเสนอ “ชุดไทย-มวยไทย” ให้ยูเนสโกพิจารณาเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก

วันที่ 8 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2567 คณะกรรมการได้พิจารณาข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้ให้ความเห็นชอบให้จัดทำในคราวประชุมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566

โดยมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อเสนอต่อองค์การยูเนสโก เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาจัดทำเอกสารประกอบการเสนอต่อยูเนสโกและตรวจสอบความสมบูรณ์ จำนวน 2 รายการ คือ ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ และ มวยไทย

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดลำดับความสำคัญของรายการ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จะเข้าสู่ การพิจารณาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในรอบต่อไป ได้แก่

  • ลำดับที่ 1 ชุดไทย
  • ลำดับที่ 2 มวยไทย

โดยจะดำเนินการเสนอชุดไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของยูเนสโก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงด้วย

ทั้งนี้ มีรายการที่คาดว่าจะได้ประกาศในปลายปี 2567 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง และมรดกร่วม เคบายา และยังมีรายการ “ผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย” รอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของยูเนสโกในลำดับถัดไป ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะมีหนังสือแจ้งต่อยูเนสโกเพื่อขอลำดับรายการ ชุดไทย มวยไทย และผ้าขาวม้า เป็นลำดับต่อไป

ไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมโลกแล้ว 4 รายการ

สำหรับประเทศไทย มีวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 4 รายการ คือ

  1. โขน (Khon, masked dance drama in Thailand) ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2561
  2. นวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2562
  3. โนรา ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2564
  4. สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ได้รับการขึ้นทะเบียนล่าสุด เมื่อ 6 ธันวาคม 2566

มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ คืออะไร ?

“มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” คือภูมิปัญญา ความรู้ ความคิด การแสดงออกผ่านศิลปะการแสดง การบอกเล่า การสืบทอดความรู้ ภาษาวรรณกรรม ความถนัดและชำนาญด้านงานช่าง โดยองค์การยูเนสโก ได้จำแนกออกเป็น 5 ประเภท คือ

1. เรื่องราวข้อมูลความรู้ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นมุขปาฐะและการแสดงออกในด้านต่าง ๆ รวมถึงวัฒนธรรมด้านภาษา ในฐานะที่เป็นสื่อสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Oral traditions and expressions, including language as a vehicle of the intangible cultural heritage)  เช่น สุภาษิต คำปริศนา พังเพย นิทาน เรื่องเล่า เพลงกล่อมเด็ก ตำนาน มหากาพย์ ร้อยกรอง บทสวด บทเพลง ฯลฯ อันหมายรวมถึงศิลปะการแสดงจากเรื่องราวหรือขนบธรรมเนียมดังกล่าวด้วย

2. ศิลปะการแสดง (Performing arts) คือ ดนตรี การแสดงละคร และนาฏศิลป์ การเต้นรำ ร่ายรำ และการแสดงออกในพิธีกรรม และเพลงร้องพื้นบ้าน อาจผนวกรวมกับมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สาขาอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งการแสดงสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่อง ศาสนา การทำงาน ความบันเทิง การเมือง และเศรษฐกิจ รวมถึงใช้แสดงได้หลายวาระโอกาส เช่น ศิลปะการแสดงในงานแต่งงาน งานศพ พิธีกรรม เทศกาล หรืองานสังคมอื่น ๆ

3. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และ งานเทศกาลต่าง ๆ (Social practices, rituals and festive events) เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติกันเป็นประจำ ประกอบการดำรงชีวิตของชุมชนหรือกลุ่มคน ซึ่งสร้างความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน และความต่อเนื่องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่

ส่วนใหญ่ถูกกำหนด และปฏิบัติในช่วงระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้เป็นพิเศษ อาจจำกัดกลุ่มคนที่เข้าร่วม แต่ส่วนใหญ่จะเปิดต่อสาธารณชนโดยไม่มีการจำกัด เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีบุญบั้งไฟ การละเล่นผีตาโขน

4. ความรู้และวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ และจักรวาล (Knowledge and practices conceding nature and the universe) หมายถึงองค์ความรู้ ความชำนาญ ทักษะการปฏิบัติ ที่ชุมชนได้พัฒนา และทำให้อยู่ถาวร มีการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มักออกมาในรูปแบบของคุณค่า ความเชื่อ พิธีกรรม พิธีการเยียวยา รักษาโรค แนวปฏิบัติทางสังคมหรือสถาบัน และองค์กรทางสังคม

เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชิงนิเวศวิทยา องค์ความรู้ของชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ชีวภาพ ชาติพันธุ์พฤกษศาสตร์ การรักษาโรคแบบดั้งเดิม ตำราปรุงยาสมุนไพร พิธีกรรม วิถีการกินอยู่ การถนอมอาหาร ความเชื่อ ศาสตร์อันลึกลับ พิธีการ และการเข้าร่วมพิธีทางศาสนา พยากรณ์ศาสตร์และโหราศาสตร์ จักรวาลวิทยา รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับหมอผีหรือคนทรงเจ้า เป็นต้น

5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม (Traditional craftsmanship) คือ ทักษะและองค์ความรู้ ที่แสดงออกมาจากงานช่างฝีมือ งานศิลปหัตถกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของบรรพชน ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็นในการสืบทอดองค์ความรู้ของช่างฝีมือ สู่คนรุ่นหลังภายในชุมชน เช่น ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า เครื่องจักสาน เครื่องรัก เครื่องปั้นดินเผา เครื่องโลหะ เครื่องไม้ อัญมณี เครื่องประดับ งานศิลปกรรมพื้นบ้าน