UNESCO ขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็น “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”

สงกรานต์

ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditonal Thai New Year Festival)” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รัฐบาลจัดงานฉลองใหญ่ 7 ธันวาคมนี้ 

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายการ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditonal Thai New Year Festival)” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of  the Intangible Cultural Heritage : ICS-ICH) ครั้งที่ 18 (ICS-ICH 18) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 9 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาซาเน (Kasane) สาธารณรัฐบอตสวานา 

สืบเนื่องมาจากที่กระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนรายการ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival) ต่อยูเนสโกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 โดยผ่านขั้นตอนในประเทศ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนร่วมกับชุมชนผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน  และได้รับความยินยอมจากชุมชนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้เสนอขอขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก ซึ่งเป็นการเสนอขอขึ้นทะเบียนรายการโดยประเทศเดียว (national nomination)

ทั้งนี้ จากการประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยของคณะผู้ประเมิน (Evaluation Body) ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ให้พิจารณาขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารเป็นที่น่าพอใจตามเกณฑ์การพิจารณา

โดยคณะผู้ประเมินยังแนะนำว่าเอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ และแสดงให้เห็นว่ารัฐภาคีวางแผนที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีกระบวนการจัดทำบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ดี พร้อมมีแนวทางการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่ชัดเจน 

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในวาระที่น่ายินดียิ่งของประชาชนชาวไทยนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้กำหนดจัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก (UNESCO) ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม 

“ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ร่วมแสดงความยินดีในวาระสำคัญยิ่งของประเทศไทย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี 
(นายเศรษฐา ทวีสิน) จะให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมภาคีร่วมงาน” 

อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมบอกรายละเอียดว่า ภายในงานจะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ สรงน้ำพระสงฆ์ 9 รูป และขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย ขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์  ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี” 
(นางสงกรานต์ ประจำปี 2567) ตามด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ขบวนแตรวงกลองยาว และยังมีการแสดงดนตรีโดยวงสุนทราภรณ์ ในเวลา 19.00 ณ ลานคนเมือง กทม. อีกด้วย

“จึงขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ได้ร่วมแสดงความยินดี และมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป”