โขน สู่ สงกรานต์ ย้อนรอยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากประเทศไทย

สงกรานต์
ภาพจาก AFP

เพราะเหตุใดถึง “จับต้องไม่ได้” รู้จักความหมายและหลักเกณฑ์การคัดเลือก พร้อมย้อนรอยว่าก่อนหน้านี้มีมรดกวัฒนธรรมอะไรบ้างจากไทยที่ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

เป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditonal Thai New Year Festival) เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดถึง “จับต้องไม่ได้” พร้อมเปิดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก และย้อนรอยว่าก่อนหน้านี้มีมรดกวัฒนธรรมอะไรบ้างจากไทยที่ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ความหมายของ “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ค่อนข้างตรงตัว คือจับต้องมองเห็นไม่ได้แบบมรดกวัฒนธรรมที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และผลงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งถูกจัดรวมไว้เป็น “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้” โดยยูเนสโกจำแนกมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไว้ 5 ประเภท ได้แก่

  1. เรื่องราวข้อมูลความรู้ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นมุขปาฐะ การแสดงออกในด้านต่าง ๆ รวมถึงวัฒนธรรมด้านภาษา
  2. ศิลปะการแสดง
  3. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาลต่าง ๆ
  4. ความรู้และวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
  5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม

5 เกณฑ์ “สงกรานต์” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

เกณฑ์ที่ 1 “สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดยชุมชนชาวพุทธที่หลากหลายและชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย” เทศกาลดังกล่าวมีระยะเวลา 3-7 วัน ประชาชนไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป แสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ

ทุกคนล้วนมีบทบาทในงานเฉลิมฉลองนี้ โดยได้รับการถ่ายทอดในระดับครัวเรือนและระดับชาติ ผ่านการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ช่วยส่งเสริมคุณค่าของประเพณี และการกลับมาเยี่ยมสมาชิกในครอบครัว

เกณฑ์ที่ 2 “ความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น จะเป็นที่ประจักษ์และตระหนักรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ” สงกรานต์ประกอบด้วยการปฏิบัติของมรดกที่มีชีวิต ซึ่งแตกต่างกันในชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายทั่วประเทศไทย การขึ้นทะเบียนนี้จะช่วยให้ผู้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และสร้างความรู้ความเข้าใจในแง่มุมเฉพาะด้านของมรดกทางวัฒนธรรม

รวมทั้งการส่งเสริมเทศกาลในท้องถิ่น จะส่งเสริมการเจรจาภายในและระหว่างชุมชนท้องถิ่นด้วย และเนื่องจากการเฉลิมฉลองสงกรานต์แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและชุมชน การขึ้นทะเบียนจึงเป็นการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เกณฑ์ที่ 3 “ความมีชีวิตของรายการนั้น” มีการรักษาผ่านการปฏิบัติและสืบทอดภายในครอบครัว วัด และโรงเรียน สังคมไทยโดยรวมยังได้ส่งเสริมการสืบทอดประเพณีสงกรานต์ผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งรัฐภาคีมีส่วนในการสงวนรักษา โดยประกาศเป็นวันหยุดราชการ หลายหน่วยงานได้ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนงานด้านโลจิสติกส์ และหลีกเลี่ยงการทำให้เป็นธุรกิจมากเกินไป

มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้อง รักษา ถ่ายทอด และฟื้นฟูความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมของสงกรานต์ นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษในการป้องกันผลกระทบที่ไม่คาดคิดจากการขึ้นทะเบียน เช่น การทำให้เป็นธุรกิจมากเกินไป การขยายการเฉลิมฉลองในพื้นที่สาธารณะมากเกินไป และไม่ปลอดภัย และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่ยั่งยืน

เกณฑ์ที่ 4 “การมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่มบุคคล และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเสนอรายการ” ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีการจัดทำเอกสาร การสัมภาษณ์ และการแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน ได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปิน ผู้อาวุโสที่เคารพ พระภิกษุ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ครู อาจารย์ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้นำเยาวชน

เกณฑ์ที่ 5 “สงกรานต์เป็นส่วนหนึ่งของบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2554” บัญชีรายการได้รับการดูแลโดยหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับสงกรานต์ ประกอบด้วยการวิจัยด้านประวัติศาสตร์ คำนิยาม แนวปฏิบัติ บทบาทของชายและหญิง และความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ในการดูแล รักษา และสืบทอด

โดยมีกระบวนการซึ่งประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ถือครองภูมิปัญญาท้องถิ่น พระภิกษุ ผู้นำชุมชน ช่างฝีมือ นักวิชาการ ครู เยาวชน และผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บัญชีรายการจะมีการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุก ๆ 3 ปี โดยชุมชนที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแต่ละครั้ง

โขน
ภาพจาก freepix

ย้อนรอยโขน นวดไทย โนรา

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติทั้งหมด 3 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา

“โขน” เป็นรายการแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ณ สาธารณรัฐมอริเชียส ในชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Khon, masked dance drama in thailand” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่แตกต่างจากประเทศอื่นในรายละเอียด

โดยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้แสดงในงานมหรสพหลวงและพิธีต่าง ๆ สำหรับสร้างความบันเทิง เป็นสื่อเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สอดแทรกคติธรรมต่าง ๆ สู่ผู้ชม ผ่านตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของความดี ความชั่ว ความกตัญญู และความซื่อสัตย์

รายการที่สองคือ “นวดไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย อีกหนึ่งวิถีชีวิตคนไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณ มีจารึกกล่าวถึงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนปัจจุบันมีการต่อยอดองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้อย่างหลากหลาย

ทั้งยังถูกพัฒนาเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ตั้งแต่การนวดพื้นบ้าน การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนการนวดเพื่อการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ

รายการที่สามคือ “โนรา” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่สืบทอดมาเป็นเวลานาน มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

มีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องแต่งกายอันสวยงามและเครื่องดนตรี โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ ผู้เล่นโนราจะต้องมีความสามารถในศาสตร์และศิลป์ ทั้งการร่ายรำ ร้อง เล่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และมีปฏิภาณ

ทั้งโขน นวดไทย โนรา จนมาถึงสงกรานต์ที่เพิ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ล้วนเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีอันทรงคุณค่า และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้ต่อไป

ข้อมูลจาก กรมประชาสัมพันธ์ และ กรมศิลปากร