จุดความร้อนไทย 412 จุด เมียนมา ลดลงเหลือไม่ถึงพันจุด

จุดความร้อน เผาป่า
Photo : Pixabay

GISTDA เผย 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ PM2.5 แรงส่งผลต่อสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ ส่วน กทม ทุกเขต อากาศดี ไทยพบจุดความร้อนไทย 412 จุด ส่วนเพื่อนบ้าน ‘เมียนมา’ ลดลงเหลือไม่ถึงพันจุด

วันที่ 23 มีนาคม 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 23 มีนาคม 2567

พบ 7 จังหวัดของประเทศ มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ อาทิ ยโสธร 88.8 ไมโครกรัม อำนาจเจริญ 85.7 ไมโครกรัม นครพนม 85.3 ไมโครกรัม มุกดาหาร 83.2 ไมโครกรัม กาฬสินธุ์ 82.4 ไมโครกรัม #ร้อยเอ็ด 82.1 ไมโครกรัม และ มหาสารคาม 76.2 ไมโครกรัม

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครเช้าวันนี้ทุกเขตค่าคุณภาพอากาศดีมาก

พร้อมกันนี้ ได้รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 412 จุด ข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตร 206 จุด

ตามด้วยพื้นที่ สปก 63 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 62 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 36 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 35 จุด รวมถึงพื้นที่ริมทางหลวง 10 จุด สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนมากที่สุด คือ สุพรรณบุรี 31 จุด

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนต่อเนื่องแต่ก็ลดลงมากด้วยเช่นกัน โดยสูงสุดอยู่ที่เมียนมาเช่นเดิม 957 จุด ตามด้วยกัมพูชา 940 จุด ลาว 930 จุด เวียดนาม 552 จุด และไทย 412 จุด

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง GISTDA ยังคงติดตาม วิเคราะห์ และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่

แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโซนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบราย ชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น”