BITE SIZE : กฎหมายสมรสเท่าเทียม สู่ประวัติศาสตร์ใหม่ของไทย

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิต่าง ๆ ของคู่รัก LGBTQ+ ได้เกิดขึ้น จากปัญหาเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของคู่รัก LGBTQ+ ที่ได้ไม่เทียบเท่ากับคู่สมรสชาย-หญิง นำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่รองรับสิทธิคนกลุ่มดังกล่าวด้วย

จนกระทั่งมีการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นรับหลักการ เมื่อธันวาคม 2566 และล่าสุด ผ่านการพิจารณาทั้งฉบับ เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบที่ท่วมท้น

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ จะมีรายละเอียดอะไรที่เปลี่ยนไป และหลังจาก สส. ให้ความเห็นชอบแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

Prachachat BITE SIZE สรุปให้ฟัง

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีอะไรเปลี่ยนไป ?

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และผ่านการเห็นชอบจาก สส. แล้ว มีการแก้ไขรวม 68 มาตรา สรุปเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ

1. ปรับแก้บางถ้อยคำ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน และให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

2. ปรับเกณฑ์ขั้นต่ำในการหมั้นและสมรส จาก 17 ปี เป็น 18 ปี เพื่อให้พ้นจากความเป็นเด็ก และสอดคล้องกับกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก

3. เพิ่มบทบัญญัติใหม่ 1 มาตรา คือ กำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับดังกล่าว มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่น และระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ จนถึงมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดไว้ให้แก่ “สามี ภรรยา” ในทันที ซึ่งจะเป็นการลดภาระทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

หากอธิบายแบบเข้าใจง่าย สาระสำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เปลี่ยนแปลงไป มีตั้งแต่การแก้ไขคำเรียกต่าง ๆ จาก “ชาย-หญิง-สามี-ภริยา/ภรรยา” เป็น “บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส” เพื่อให้ครอบคลุมคู่หมั้น-คู่สมรสทุกเพศ

ปรับอายุสำหรับการหมั้น การสมรส เป็นขั้นต่ำ 18 ปีบริบูรณ์ ทั้ง 2 ฝ่าย เว้นแต่มีเหตุสมควร ศาลพิจารณาให้สมรสก่อนได้

และเพิ่มเหตุการฟ้องหย่า การเรียกค่าทดแทน ครอบคลุมถึงกรณีการมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม ไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น

โดยการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สส. เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง

ซึ่ง สส. จากพรรคประชาชาติ ขอใช้เอกสิทธิ์ไม่เห็นชอบร่างดังกล่าว เนื่องจากหลักการของกฎหมาย ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

นายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ต้องการที่จะคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิทธิเบื้องต้นที่คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาพยาบาล การเสียภาษี การลดหย่อนภาษีต่าง ๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล และยืนยันว่า ชายหญิงทั่วไป เคยได้รับสิทธิอย่างไร ในทางกฎหมายยังมีสิทธิเท่าเดิมทุกประการ ไม่ได้เสียสิทธิแต่อย่างใด

คู่รักเพศเดียวกัน มีสิทธิสมรส แต่ยังไม่มีสิทธิเลี้ยงลูก-สร้างครอบครัว ?

แม้ในภาพรวม ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะผ่านการเห็นชอบจาก สส. แล้ว แต่ในการพิจารณารายมาตรา คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลาง ๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน

คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า “บุพการีลำดับแรก” เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ และน่ากังวลว่าจะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ

ที่ประชุม สส. มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการเสียงข้างมาก คือไม่มีการเพิ่มคำดังกล่าวลงไป

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปที่ 3 ประเด็นหลักที่แก้ไขในร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีเรื่องของการกำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับดังกล่าว มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ให้แก่ “สามี ภรรยา” ในทันที

หมายความว่า จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่น ๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ “คู่สมรส” อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม,สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

กรรมาธิการฯ ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่กฎหมายฉบับใดกำหนดสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภรรยา หรือสามี ภรรยาไว้แตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จทันในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

นอกจากนี้ กมธ.มีการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์​ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

สว. รับไม้ต่อ พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

หลังจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านการพิจารณาจาก สส. แล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาจากวุฒิสภาต่อ โดยมี 3 วาระการพิจารณา เช่นเดียวกับการพิจารณาของ สส. คือ

  • วาระที่ 1 รับหลักการ
  • วาระที่ 2 ลงมติรายมาตรา
  • วาระที่ 3 เห็นชอบทั้งฉบับ

ขณะที่การลงมติ จะมี 3 ทางเลือก คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีการปัดตกกฎหมายใด ๆ

กรณี สว.เห็นชอบ ก็เข้าสู่กระบวนการประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการต่อไป

กรณี สว.ไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างกฎหมายไว้ก่อนและส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน ยกเว้นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ยกร่างกฎหมายกลับมาพิจารณาได้หลังพ้นไปแล้ว 10 วัน

หากยกร่างกลับมาพิจารณาแล้ว สส.ยืนยันร่างเดิมเกินกึ่งหนึ่งของสภา ก็ถือว่าผ่านการเห็นชอบแล้ว และเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ต่อไป

กรณี สว. มีมติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว กลับไปที่ สส. และหาก สส. เห็นชอบ เข้าสู่การประกาศกฎหมายต่อไป

แต่หาก สส. ไม่เห็นชอบ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม สส.-สว. ขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน และนำฉบับกรรมาธิการร่วม กลับมาให้ สส.-สว. พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง

หากทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบ จะเข้าสู่การประกาศเป็นกฎหมายต่อไป แต่หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

ถ้าผ่านการเห็นชอบจาก สว. หรือเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาจนได้รับการเห็นชอบแล้ว จะนำร่างกฎหมายที่ได้รับการเห็นชอบ เข้าสู่กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยนายกรัฐมนตรี แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศแล้ว 120 วัน

และเมื่อกฎหมายดังกล่าว ประกาศใช้แล้ว จะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นชาติแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชีย ต่อจากไต้หวัน ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ทั้งนี้ ประเทศเนปาล ซึ่งเคยมีการรายงานว่า มีคู่รักเพศเดียวกัน ได้จดทะเบียนสมรสนั้น เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลสูงสุดเนปาล ขณะที่เตรียมร่างแก้ไขกฎหมาย แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีการรับรองกฏหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ต้องจับตา หลังการบังคับใช้กฎหมาย จะมีจำนวนคู่สมรสเท่าเทียมตามกฎหมายในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.48 ได้ที่ https://youtu.be/JGMvk45U8yA

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ