รวม 4 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม-ประเทศไหนบ้างสมรสเท่าเทียมได้แล้ว

สมรสเท่าเทียม
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2566

สภาผู้แทนผ่านกฏหมายสมรสเท่าเทียม เปิดที่มาข้อเสนอ หลักการกฎหมายจากพรรคก้าวไกล-รัฐบาล-ร่างของภาคประชาชน และร่างพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันมีประเทศไหนในโลกที่เปิดให้มีการสมรสเท่าเทียมได้แล้ว

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 โดยมีวาระพิจารณาเรื่องด่วน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ร่าง ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของภาคประชาชน และอีกร่างที่นำเสนอโดยนายสรรเพชญ บุญญามณีและคณะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระแต่นำมาพิจารณาในวาระที่ 1 ด้วย

สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับของคณะรัฐมนตรี ได้มีการรับฟังความเห็น และอนุมัติหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จัดทำร่างฯ เสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ดดยในวันที่ 21 ธันวาคม 2566  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมีการพิจารณาพร้อมกันทั้ง 4 ร่าง ดังนี้

  • 1 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล
  • 2 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกลไกรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา
  • 3 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
  • 4ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ จะแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกับสามร่างที่เสนอ

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลกฎหมายเท่าเทียมในประเทศไทย ปัญหา ความแตกต่างของทั้ง 4 ร่างของกฎหมาย

ที่มากฎหมายสมรสเท่าเทียม

1. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ในสมัยสภาที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พิจารณาคู่ขนานกับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีกฉบับเสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์

แม้สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว และพิจารณาแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการ เตรียมลงมติรายมาตราในวาระสอง แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา ส่งผลให้ร่างกฎหมายเป็นอันตกไป

วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ดังนั้น ระยะเวลา 60 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2566 เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ราบรื่นเนื่องจากยังคงมี สว. ชุดพิเศษ จากคสช. ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ทำให้ ครม. ไม่ได้ร้องขอรัฐสภาภายในกำหนดดังกล่าว ร่างกฎหมายที่ค้างท่อจากสภาชุดที่แล้วรวมถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้นำมาพิจารณาต่อจากเดิม

พรรคก้าวไกล จึงเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาอีกครั้ง โดยมีหลักการเช่นเดียวกับร่างที่เคยเสนอสภาชุดที่แล้ว แต่ในเชิงรายละเอียดเนื้อหาจะเหมือนกันกับร่างที่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมติรายมาตราวาระสอง และร่างตกไปเสียก่อน

2. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมหลายองค์กรในนาม ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ 11,611 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยการรวบรวมรายชื่อทำผ่านระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย e-initiative ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

3. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี  เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิเสรีและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังจากเดิมก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายแยกออกไปเพื่อรับรองสิทธิการตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังไม่ได้มีแนวทางการผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รับรองการสมรสเฉพาะ ชาย-หญิง เป็นรับรองสิทธิสมรสสำหรับทุกคนแต่อย่างใด

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย ครม. เปิดรับฟังความเห็นประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ law.go.th และเว็บของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปแล้วเมื่อ 31 ตุลาคม-14 พฤศจิกายน 2566 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการตรวจร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566

4. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ ลงชื่อเสนอร่างฯ ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมซึ่งเป็นชื่อร่างกฎหมายที่สังคมทั่วไปใช้เรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นอกเหนือไปจากการสมรสของเพศชายและเพศหญิง ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ระบุว่า กฎหมายปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามเป็นพื้นฐานของทุกชีวิต จะผลักดันการแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ทางกฎหมาย

เช่น การให้สิทธิสถานะคู่รักทางกฎหมาย เป็นคู่สมรส, อายุขั้นต่ำที่จะสามารถจดทะเบียนสมรสคืออายุ 18 ปีขึ้นไป, สามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติได้, สามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกันได้, สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้, สามารถรับมรดกของคู่สมรสในกรณีที่ไม่ได้มีการทำพินัยกรรมได้, สามารถดำเนินการแทนคู่สมรสในกรณีที่เป็นผู้เสียหายในทางคดีอาญาได้, สามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสได้, ไม่ต้องเสียภาษีมรดก กรณีรับมรดกจากคู่สมรสที่เสียชีวิต รวมถึงสามารถตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ได้

3 ร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม แตกต่างกันอย่างไร

3 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละประเด็น ดังนี้

การหมั้น

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล ระบุว่า บุคคล 2 ฝ่าย เป็นผู้หมั้น และผู้รับหมั้น
  • ฉบับภาคประชาชน ไม่มีการแก้ไข สามารถสมรสได้โดยไม่ต้องหมั้น

อายุการสมรส

  • ฉบับรัฐบาล ระบุที่ 17 ปี
  • ฉบับก้าวไกล, ฉบับภาคประชาชน, ระบุที่ 18 ปี

การระบุเพศ

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล ระบุว่า ระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย บุคคล 2 คน
  • ฉบับภาคประชาชน ระบุว่า ระหว่างบุคคล 2 บุคคล

สถานะหลังจดทะเบียนสมรส

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล, ฉบับภาคประชาชน ระบุว่า คู่สมรส ทั้ง 3 ร่าง

บทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล ไม่มีบทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ
  • ฉบับภาคประชาชน มีบทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ

ระยะเวลาบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล ระบุ 120 วัน
  • ฉบับภาคประชาชน ระบุ 60 วัน

บทบัญญัติให้หน่วยงานเสนอแก้ไขกฎหมาย อื่น ๆ

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล ระบุ 180 วัน
  • ฉบับภาคประชาชน ระบุเสนอในบทเฉพาะกาลให้ใช้ทันที

การแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร

  • ฉบับรัฐบาล, ฉบับก้าวไกล ไม่แก้ไข
  • ฉบับภาคประชาชน เปลี่ยนจาก บิดา มารดา เป็น “บุพการี”

ผู้รักษาการตาม ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

  • ฉบับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี
  • ฉบับก้าวไกล, ฉบับภาคประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับ เป็นการปรับปรุงแก้ไข ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สิทธิแก่ทุกเพศสามารถเข้าถึงการสมรสได้ โดย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน เป็นการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย และได้บรรจุวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 ธันวาคม 2566

ส่วนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับเสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 โดยเป็นฉบับเดียวกันกับที่เคยเสนอสภาชุดก่อนที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับรัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ได้มีมติ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย ที่นายเศรษฐา ได้แถลงต่อรัฐสภา

ปัญหาการไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันสังคมในปัจจุบัน มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมากแต่ไม่มีกฎหมายรองรับการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้ยากต่อการใช้ชีวิตคู่ เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยสิทธิส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาต่อคู่ชีวิตในการตัดสินใจแทน ได้แก่

  • สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล
  • สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
  • สิทธิในการรับมรดก

ประเทศไหนบ้าง ที่มีกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน

ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ข้อมูลจาก www.goodmorningamerica.com

  • เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกของโลกที่ผ่านร่างกฎหมายให้คู่สมรสเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ในปี พ.ศ. 2543
  • เบลเยียม หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐสภาเบลเยียม ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2549
  • แคนาดา ปี พ.ศ. 2548 รัฐสภาแคนาดาได้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องการสมรสของพลเมือง โดยได้เพิ่มการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันด้วย
  • สเปน ในปี พ.ศ. 2548 ได้ออกกฎหมายใหม่กำหนดให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิในการสมรสและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม
  • แอฟริกาใต้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐสภาแอฟริกาใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงสัดส่วน 5 ต่อ 1 ของสภา โดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

 

  • นอร์เวย์ ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในปีในปี พ.ศ. 2551 และหลังจากนั้นหนึ่งปีต่อมา โบสท์นิกาย Lutheran ทั่วประเทศได้ลงมติให้ศิษยาภิบาลสามารถแต่งงานกับคู่รักเพศเดียวกันได้ในปี 2552
  • สวีเดน ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2552
  • อาร์เจนตินา ในปี พ.ศ. 2553 อาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในแถบลาตินอเมริกาที่บัญญัติให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย
  • โปรตุเกส ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2553 หลังจากนั้น รัฐสภาโปรตุเกส ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในปี พ.ศ. 2559
  • ไอซ์แลนด์ ปี พ.ศ. 2553 รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

 

  • เดนมาร์ก ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2555 แต่ก่อนจะประกาศในปีเดียวกัน เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่รับรองสถานภาพคู่รัก LGBTIQN ในฐานะ Domestic Partners หรือการอยู่กินด้วยกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยยังไม่ใช่สถานะสมรส
  • อุรุกวัย ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2556
  • บราซิล ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2556
  • นิวซีแลนด์ ได้ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ได้รับการอนุมัติจากสภาในปี พ.ศ 2556 จากคะแนนเสียง 77 ต่อ 44
  • สหราชอาณาจักร (อังกฤษและเวลส์) ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2556

 

  • ฝรั่งเศส ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2556
  • ลักเซมเบิร์ก รัฐสภาลักเซมเบิร์ก ประกาศให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมายในปี พ.ศ. 2557
  • สหราชอาณาจักร (สกอตแลนด์) ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2557
  • สหรัฐอเมริกา ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2558 แฮชแท็ก #LoveWins กลายเป็นแท็กมาแรงอันดับ 1 ของโลกบน Twitter เกือบจะในทันที
  • ไอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2558 ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายผ่านการโหวตของ “ประชาชน”

 

  • ฟินแลนด์ กฎหมายสมรสเพศเดียวกันประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2558 ร่างกฎหมายที่เรียกการแต่งงานของเพศเดียวกัน เกิดจาก “ความคิดริเริ่มของพลเมือง” โดยมีรายงานผู้ลงนาม 167,000 คน
  • กรีนแลนด์ ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2558
  • โคลอมเบีย ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี พ.ศ. 2559 โดยผ่านเสียงโหวตในสภาคิดเป็นสัดส่วน 6 ต่อ 3
  • มอลตา ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2560
  • ออสเตรเลีย ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2560

 

  • เยอรมนี ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2560 โดยได้รับการสนับสนุนประชาชนเป็นจำนวนมาก ด้วยคะแนนเสียง 393 ต่อ 226
  • ออสเตรีย ในปี พ.ศ. 2553 ออสเตรียอนุญาตให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตหรือ Civil Partnership (การอยู่กินด้วยกัน) ได้ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2562 จะประกาศกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันมีสถานภาพสมรสได้
  • ไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2562 เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่ประกาศใช้กฎหมายให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย

 

  • สหราชอาณาจักร (ไอร์แลนด์เหนือ) ได้เสนอร่างกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี พ.ศ. 2562 ก่อนจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2563
  • คอสตาริกา ผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี พ.ศ. 2563
  • สวิตเซอร์แลนด์ เกือบสองในสามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายในการลงประชามติในปี พ.ศ. 2564 ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศลำดับที่ 30 ของโลกที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2565