
โฆษก กทม. เปิดเผยประโยชน์ที่ได้รับ หลังจ่ายหนี้งานระบบไฟฟ้า-เครื่องกล รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 2.3 หมื่นล้านให้ BTS แล้ว ชี้ช่วยให้บริการประชาชนได้เต็มที่ ลดข้อพิพาท สร้างอำนาจต่อรองคู่สัญญา และช่วยประหยัดงบประมาณจากดอกเบี้ย
วันที่ 5 เมษายน 2567 จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้มีการชำระหนี้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 23,312 ล้านบาท นั้น
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการชำระแก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ตามที่สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติการรับโอนงานระบบฯ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567
ต่อมา สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวงเงิน 23,488,692,200 บาท
และกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 สำหรับการรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 เพื่อความรอบคอบและเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ นอกจากความรอบคอบและเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครแล้ว การใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ยังเกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครอีกด้วย ได้แก่
- กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอย่างสมบูรณ์ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ป้องกันข้อพิพาทในอนาคต
- อำนาจต่อรองในการบริหารจัดการการเดินรถกับคู่สัญญามากขึ้น เนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหัวใจสำคัญของการเดินรถ
- กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดงบประมาณจากดอกเบี้ยในส่วนของค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลได้กว่าวันละ 3 ล้านบาท
โฆษกของ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครขอยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดถือประโยชน์ของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การชำระหนี้ แหล่งเงินมาจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษจำนวน 23,488,692,200 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้
งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
- สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 23,488,692,200 บาท
- งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 23,488,692,200 บาท
ผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 23,488,692,200 บาท
สำหรับความเคลื่อนไหวต่อจากนี้ มติชน รายงานเมื่อ 4 เมษายน 2567 ระบุว่า นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของหนี้ E&M ถือว่าชำระหมดแล้วไม่มีค้าง และได้รับงานระบบมาเป็นของ กทม.เรียบร้อยแล้ว จากนี้ทาง กทม.จะต้องทำหนังสือรายงานให้กับกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบว่า กทม.ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว