ประกาศแล้ว! พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ รับ 11,000 บาทต่อเดือน

ประกาศราชกิจจา-ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 ให้ผู้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบเดือนละ 11,000 บาท ใน 5 ประเภท เหตุเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพสูงขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

วันที่ 17 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ท้ายพระราชกฤษฎีการะบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้น สมควรปรับปรุงอัตราเงินช่วยคำครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่ครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาท ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นอีกตามอัตราที่กำหนดอันเป็นการช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวในการครองชีพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ

เมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบ เดือนละ 11,000 บาท ใน 5 ประเภท ได้แก่ ผู้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม, ผู้รับบำนาญปกติ, ผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ, และบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ

โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป คาดว่าการปรับขึ้น เบี้ยหวัดบำนาญจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ใช้จากงบฯกลางเพิ่มขึ้น 2.33 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 27.96 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน