อย.-กสทช.สั่งระงับโฆษณาผิดกม. 29 ช่อง-สถานีวิทยุ-เว็บไซต์ คาด 3 เดือนสกัดเพียบ!

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ร่วมกับ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงความคืบหน้าการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายหลังจากที่ อย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายการ และโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ สำนักงาน กสทช. ระหว่างวันที่ 4 -11 พฤษภาคม 2561 รวมทั้งหมด 6 ครั้ง

นายฐากรกล่าวว่า พบโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายทางสถานีโทรทัศน์ 29 ช่องรายการ และทางสถานีวิทยุ 1 สถานี ได้แก่ วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 (ครั้งที่ 1) จำนวน 4 ช่อง คือ 1.ช่องสปริงนิวส์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโกตุ โคล่าคริสตัลเฮิร์บ 2.ช่อง 8 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าสกัดผสมเห็ดหลินจือ พลัส ตรา ซีเนเจอร์ และผลิตภัณฑ์อาหาร เอส.โอ.เอ็ม. ซีแมคซ์ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 3.ช่องแอดทีวี (ทีวีดาวเทียม) ผลิตภัณฑ์ไบโอวัน และผลิตภัณฑ์ดับเบิ้ล แม็กซ์ และ 4.ช่องมิกซ์ เมเจอร์ ชาแนล (ทีวีดาวเทียม) ผลิตภัณฑ์ดับเบิ้ล แม็กซ์

วันที่ 7 พฤษภาคม 2561 (ครั้งที่ 2) จำนวน 4 ช่อง คือ 1.ช่อง Mirror channel ผลิตภัณฑ์ลูทินาร์ 2.ช่อง JKN Dramax ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอร์ดี้ พลัส 3.ช่อง KM Channel ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอร์ดี้ พลัส และ 4.ช่อง Hit Station ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ST DBM Active serum

วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 (ครั้งที่ 3) จำนวน 7 ช่อง คือ 1.ช่อง Fan TV ผลิตภัณฑ์อาหาร Lamucare 2.ช่อง ทีวีบ้านบ้าน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอร์ดี้ พลัส 3.ช่อง ESAN TV ผลิตภัณฑ์หลินจือโกะ (Lingzhigo) 4.ช่อง สตาร์ ทีวี ผลิตภัณฑ์อาหารเอสที.เพอริส 5.ช่อง Movie Hit ชาเทวัญ 6.ช่อง 8 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Magique gravitas treatment และ 7.ช่อง Bright TV ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Ricapil rapid

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 (ครั้งที่ 4) จำนวน 8 ช่อง และ 1 สถานีวิทยุ คือ 1.ช่อง ทริปเปิ้ลเอ ทีวี ผลิตภัณฑ์อาหาร น้ำชาปรุงสำเร็จรสวินิก้า ผสมน้ำผึ้ง และเห็ดหลินจือ ชนิดเข้มข้น ตรา มาดี คอมบูชา 2.ช่อง MIX MAJOR ผลิตภัณฑ์แอล-ซี พลัส 3.ช่อง Hit Station ผลิตภัณฑ์แอล-ซี พลัส 4.ช่อง Unity ผลิตภัณฑ์เคลียร์วิส (Kleavis) 5.ช่อง สตาร์ ทีวี ผลิตภัณฑ์ลูทินาร์ 6.ช่อง สปริงนิวส์ ผลิตภัณฑ์ไวตา-พลัส และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า Nuvite Melasis Cream 7.ช่อง 8 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าสกัดผสมเห็ดหลินจือ พลัส ตรา ซีเนเจอร์ 8.ช่อง ONE ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เคลลี่ รีจูเวเนติ้ง แอนด์ ลิฟท์ติ้ง เซรั่ม และ 9.สถานีวิทยุกระจายเสียง AM 873 MHz ชุดพรีเมี่ยม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์คลอโรฟีน่า, พรมมิ แซนที และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราเบลล่า

วันที่ 10 พฤษภาคม 2561 (ครั้งที่ 5) จำนวน 8 ช่อง คือ 1.ช่อง Good living ผลิตภัณฑ์อาหารเคลียร์วิส 2.ช่อง INTV ผลิตภัณฑ์ลูทินาร์ 3.ช่อง TGN ผลิตภัณฑ์คอร์ดี้ พลัส 4.ช่อง Chic Station ผลิตภัณฑ์หลินจือมิน 5.ช่อง Hit Stationผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แอล-ซี พลัส 6.ช่อง MIX MAJOR ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอสที.เพอริส 7.ช่อง NOW ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง HYA Serum และ 8.ช่อง Nation TV ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง HYA Serum

สำหรับวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 (ครั้งที่ 6) อยู่ระหว่างการพิจารณาระงับสื่อโฆษณา จำนวน 8 ช่อง รวม 9 เรื่อง และในวันนี้ (15 พฤษภาคม 2561) ได้ระงับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลีน ทางเว็บไซต์จำนวน 10 URL

“จากนี้ ทางสำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี) จำนวน 11 ราย และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) จำนวน 20 ราย เพื่อให้ดำเนินการระงับการเข้าถึงของเว็บไซต์ ทั้งหมด 10 URL และคาดว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ก็จะลงนามในหนังสือให้ปิดกั้นในส่วนของเว็บไซต์ดังกล่าว” นายฐากร กล่าว

พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า มีบางสถานี ไม่ได้ทำเพียงการโฆษณา แต่มีการพัฒนาไปถึงขั้นทำเป็นรายการ ซึ่งทาง กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ จึงได้กำชับให้สถานีต่างๆ หยุดเผยแพร่โฆษณาในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมาย และปัจจุบันก็ได้ดำเนินการสั่งระงับรายการที่มีเนื้อหาดังกล่าวแล้ว

นพ.วันชัย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบความผิด คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งมีการโฆษณาว่า มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ถือเป็นการสื่อข้อความที่เป็นเท็จ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิด ในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จึงได้สั่งระงับการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวทั้งหมด

“เชื่อว่า ระยะเวลา 3 เดือนที่ได้ทำงานร่วมกับ กสทช. จะสามารถปิดกั้นโฆษณาที่ขัดต่อกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก” นพ.วันชัย กล่าว

นพ.วันชัย กล่าวว่า ขอเตือนไปยังผู้บริโภค ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อาหารกฎหมายไม่อนุญาตให้โฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค ส่วนเครื่องสำอาง มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของร่างกายได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณที่อวดอ้างเกินความจริงทางสื่อต่างๆ นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556, อีเมล์ [email protected], ร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ ศรป. อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วน กสทช. 1200

 

ที่มา : มติชนออนไลน์