โค้งสุดท้าย! พิสูจน์สัญชาติ ทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว 30 มิ.ย.2561 ศูนย์ OSS ให้บริการถึง24.00น.

รมว.แรงงาน ย้ำเหลือเวลาแรงงานต่างด้าวพิสูจน์สัญชาติ จัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานเพียง 4 วัน และจะไม่ขยายเวลา ไม่ผ่อนผันแน่นอน พ้นกำหนดจะอยู่และทำงานต่อไปอีกไม่ได้แล้ว หากไม่พร้อมดำเนินการขอให้แรงงานกลับประเทศ หากประสงค์จะทำงานให้เข้ามาตามระบบ MOU พร้อมยืนยัน วันที่ 30 มิถุนายน 2561 ศูนย์ OSS ให้บริการถึงเที่ยงคืน ขณะที่คงเหลือต้องพิสูจน์สัญชาติอีก 7,930 คน จัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานอีก 28,056 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเตือนนายจ้างและแรงงานต่างด้าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาในการพิสูจน์สัญชาติ จัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานอีกเพียง 4 วันเท่านั้น จึงขอให้นายจ้างรีบพาแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาไปพิสูจน์สัญชาติ และจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ระยะที่ 2 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service โดยวันสุดท้ายก่อนปิดศูนย์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ศูนย์ OSS จะเปิดให้บริการถึงเวลา 24.00 น. ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามขออย่ารีรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะอาจไม่ทันเวลา หากไม่พร้อมดำเนินการขอให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศก่อน แล้วกลับเข้ามาตามระบบ MOU หากประสงค์จะทำงานต่อในประเทศไทย และขอเน้นย้ำชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่มีการขยายเวลาและไม่ผ่อนผันใดๆ อย่างแน่นอน

จากการดำเนินการที่ผ่านมา มีแรงงานฯ ที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 จำนวน 1,320,035 คน โดยดำเนินการไปแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561 จำนวน 961,946 คน และต่อมา
มติ ครม. ได้มีการขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งขณะนี้ (ณ วันที่ 23 เม.ย. – 25 มิถุนายน 2561) ดำเนินการแล้ว 1,160,702 คน คิดเป็น 97.64 % คงเหลืออีก 28,056 คน คิดเป็น 2.36 % ขณะที่ยอดคงเหลือแรงงานฯ ที่ต้องพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวน 7,930 คน เป็นกัมพูชา 7,365 คน และลาว 565 คน

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณทั้ง 3 ประเทศที่ให้ความร่วมมือในการพิสูจน์สัญชาติ และขอย้ำอีกครั้งว่า หากพ้นกำหนด 30 มิถุนายนนี้ แรงงานต่างด้าวยังไม่ดำเนินการใดๆ จะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ โดยจะตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม