กรมชลฯเดินเครื่องห้วยหลวงตอนล่าง 2.1 หมื่นล้าน มั่นใจสร้างความมั่นคงลุ่มน้ำโขง

กรมชลประทานเดินเครื่องโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท มั่นใจสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ 2 จังหวัดลุ่มน้ำโขงกว่า 300,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 29,000 ครัวเรือน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งเป็น 1 ใน 9 โครงการที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ก่อนที่จะเดินทางไปตรวจจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ที่ ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

“นายทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เร่งดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติดำเนินโครงการ เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ได้ทำการสำรวจและออกแบบในส่วนของงานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง งานพนังกั้นน้ำเดิม ยาว 18.60 กิโลเมตร งานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขา 12 แห่ง และงานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวง 1 แห่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นเตรียมประกวดราคา

คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2561 ส่วนงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน พนังกั้นน้ำที่เหลืออีก 28.42 กิโลเมตร งานระบบโครงข่ายน้ำชลประทานทั้งหมด งานอาคารบังคับน้ำต่างๆ ตลอดจนงานระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2569  โดยใช้งบลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 21,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างนั้น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539  โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ซึ่งกรมชลประทานได้เข้ามารับผิดชอบในปี 2546 ต่อมาในปี 2557 กรมชลประทาน ได้จ้างสถาบันพัฒนาแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง อย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอน ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2558

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง หัวงานตั้งอยู่ที่บ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เป็นงานพัฒนาแหล่งน้ำที่มีองค์ประกอบสำคัญ 5 งาน คือ 1.งานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง รวมอัตราสูบสูงสุด 150 ลบ.ม./วินาที 2.งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ความยาวรวม 47.02 กิโลเมตร โดยเป็นพนังกั้นน้ำเดิม ยาว 18.60 กิโลเมตร พนังกั้นน้ำใหม่ยาว 28.42 กิโลเมตร 3.งานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จำนวน 15 แห่ง เป็นอาคารตามลำน้ำสาขา 12 แห่ง และอาคารตามลำห้วยหลวง 3 แห่ง 4.งานโครงข่ายน้ำชลประทานขนาดกลาง ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 315,195 ไร่

 

ประกอบด้วยระบบส่งน้ำโครงข่ายน้ำชลประทานเดิม 1 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 15,000 ไร่ และระบบส่งน้ำโครงข่ายน้ำชลประทานใหม่ 12 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 300,195 ไร่ และ 5.งานระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ ( Smart Flood Control System) เป็นระบบแสดงข้อมูล และประมวลผล ณ เวลาปัจจุบัน (real time) เพื่อการพยากรณ์อากาศ คาดการณ์ปริมาณน้ำท่าและโอกาสเกิดอุทกภัยซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เมื่อการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดหนองคายและอุดรธานีในช่วงฤดูฝนได้ 54,390 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร จำนวน 315,195 ไร่ให้กับพื้นที่ 8 ตำบล 1 อำเภอ คือ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และพื้นที่ 29 ตำบล 6 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.หนองหาน อ.พิบูลย์รักษ์ อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี  อีกทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายพื้นที่ชลประทานให้กับลุ่มน้ำใกล้เคียง มีประชากรที่จะได้รับประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ถึง 13.36% ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์