โครงการจากน้ำพระราชหฤทัย ทรงห่วงใยชาวสวนจันทบุรี

ตลอดการครองราชย์ 70 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) พระองค์ทรงคิดค้นโครงการพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาของราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ว่าจะสุ่มชี้ลงไปที่จังหวัดไหนในแผนที่ประเทศไทย ล้วนแต่มีโครงการพระราชดำริตั้งอยู่ในทุกจังหวัด

จันทบุรี จังหวัดทางภาคตะวันออกที่ขึ้นชื่อเป็นเมืองผลไม้ ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีโครงการพระราชดำริ คือ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริจัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

ความเป็นมาของโครงการเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดําริว่า

“…ในอนาคตจะมีการขยายการทําสวนผลไม้เพิ่มขึ้นอีกจํานวนมาก ถึงแม้จังหวัดจันทบุรีจะมีปริมาณฝนมาก จํานวนวันที่ฝนตกกว่าครึ่งปีจนเกิดน้ำไหลหลากท่วมจังหวัดจันทบุรีเป็นประจํา แต่ฤดูแล้งจะขาดน้ำ…”

พระองค์จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง “…ให้คณะทํางานโครงการพัฒนาตามพระราชดําริ สํารวจพื้นที่และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินสวนไม้ผล

ซึ่งมีลําคลองพาดผ่านพื้นที่ ในอําเภอมะขาม จํานวน 109 ไร่ เพื่อเตรียมวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้เป็นตัวอย่าง แต่ราษฎรในพื้นที่ไม่เข้าใจปัญหา เกรงว่าจะเกิดน้ำท่วม จึงให้ชะลอไว้ก่อนโดยเปลี่ยนไปสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อื่นที่ราษฎรมีความต้องการ…”

ต่อมา พ.ศ. 2524 ทรงมีพระราชดําริและทรงรับสั่งกับคณะทํางานโครงการพัฒนาตามพระราชดําริ “…ให้ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผล ให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแก่ราษฎร และสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสวนผลไม้ จํานวน 60 ไร่ สระเก็บน้ำ จํานวน 12 ไร่ และพื้นที่ว่างเปล่า จํานวน 37 ไร่ เพื่อทําการศึกษา ทดลองทางการเกษตร…”

โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี จึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยตั้งโครงการที่บ้านทุ่งโตนด หมู่ที่ 8 ตําบลท่าหลวง อําเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 109 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เป็นจุดเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2.พัฒนาผลผลิตไม้ผลในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ 3.ส่งเสริมการผลิตให้สามารถจําหน่ายได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

สุวิวัฒน์ วงษ์สกุลไชยะ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงานหัวหน้างานวิชาการเกษตร โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ให้ข้อมูลการดำเนินงานของโครงการว่า พระองค์ท่านทรงส่งหน่วยงานเข้ามาศึกษาว่า ควรแก้ปัญหาจุดใดบ้าง แล้วค่อย ๆ พัฒนาในพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยนำองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ ๆ เข้ามาช่วยให้ผลผลิตไม้ผลมีคุณภาพ และต่อยอดทำการแปรรูปผลผลิต

ด้านการถ่ายทอดความรู้ ทุกปีจะมีงบประมาณฝึกอบรมเกษตรกรปีละ 300 ราย เข้าเรียนรู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลคุณภาพ และการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนเคมีเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในการถ่ายทอดความรู้ เจ้าหน้าที่จะเน้นย้ำหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ให้ผู้ที่เข้าชมงานเข้าใจหลักการนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาการทำการเกษตรของตัวเอง ให้เป็นไปตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลการดำเนินโครงการ เห็นผลว่าเกษตรกรได้นำความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ได้รับการอบรมจากศูนย์ไปใช้แล้วได้ผลจริง เรื่องการป้องกันโรคที่เกิดกับไม้ผล เมื่อป้องกันโรคได้ จึงไม่ต้องใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุน ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

ทุกย่างก้าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียน ปัญหาในพื้นที่ล้วนได้รับการปัดเป่า บรรเทา ส่วนที่ไม่ได้เสด็จไปด้วยพระองค์เอง น้ำพระทัย ความห่วงใยของพระองค์ก็ส่งไปถึงราษฎรทุกหมู่เหล่าผ่านโครงการพระราชดำริที่เราได้ยิน ได้เห็นกันมาเนิ่นนาน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่อยู่ในใจปวงชนชาวไทยไม่รู้ลืม