อพยพแล้ว จนท.แท่นขุดเจาะกลางทะเล สทนช.เรียกประชุมด่วน รับมือ “ปาบึก”

เวลา 17.30 น.วันที่ 1 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 เรื่อง “พายุปาบึก” โดยระบุว่า ดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) แล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.8 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศใต้ค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย โดยมีผลกระทบดังนี้

ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล และ ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเรื่องนี้ได้ถูกประกาศออกไปทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ออกหนังสือ ด่วนที่สุด ไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาประชุมเป็นการเร่งด่วน ในเวลา 10.00 น. วันที่ 2 มกราคม ที่อาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำหรับวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) รายงานว่า คาดว่า พายุโซนร้อนปาบึก น่าจะเคลื่อนที่ผ่านบริเวณ ที่เกาะสมุย ก่อนที่จะมาขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ชุมพร ในเวลาประมาณ 7 โมงเช้า ของวันที่ 4 มกราคม คาดว่า พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ คือ เกาะสมุย อ.นบพิตำ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ชุมพร เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราชและชุมพรนั้น จะมีคลื่นสูง 4-5 เมตร ขึ้นไป

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ จากรายงานพยากรณ์อากาศนอกชายฝั่ง (Offshore Weather Services) เกี่ยวกับสถานการณ์พายุ ที่กำลังเคลื่อนที่เข้าบริเวณอ่าวไทยในขณะนี้ ปตท.สผ.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. และเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว เนื่องจากสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ปตท.สผ.จึงได้ส่งพนักงานและผู้รับเหมาบางส่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติงานเนื่องด้วยสภาพอากาศดังกล่าวกลับขึ้นฝั่งที่ จ.สงขลา ระงับการเดินทางไปยังฐานปฏิบัติการนอกชายฝั่ง ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุงไว้ชั่วคราว เคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุดีเปรสชั่นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์พายุดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบกับการผลิตก๊าซ ปตท.สผ.ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซจากแหล่งต่างๆ ของ ปตท.สผ. เพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หากมีความคืบหน้า ปตท.สผ.จะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์