ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีสลายม็อบค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ปี 2545

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 สิงหาคม ที่จังหวัดสงขลา ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา ที่ศาลจังหวัดสงขลา ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ในคดีที่เอ็นจีโอและตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย 25 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่นำโดย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร.พร้อมพวก ในข้อหา เจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จากเหตุการณ์การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เหตุเกิดขึ้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2545 โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง โดยศาลได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือยกฟ้อง

น.ส.ศุภวรรณ ชนะสงคราม หนึ่งในโจทก์ในคดีนี้ กล่าวว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มประชาชนในพื้นที่โครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย บริเวณถนนทางเข้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะประชาชนชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 โดยคดีก่อนหน้านี้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นโจทก์จับกุมคุมขังและฟ้องประชาชนผู้ชุมนุมเป็นจำเลยนั้น คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และฎีกา พิพากษาว่าจำเลยคือ ประชาชนผู้ชุมนุมนั้นไม่มีความผิดใดๆ ตามข้อกล่าวหา ที่สำคัญประชาชนมีสิทธิปกป้องดูแลบ้านเกิด สามารถชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และรัฐธรรมนูญคุ้มครอง ขณะนี้ประชาชนจึงเปลี่ยนจากจำเลยมาเป็นโจทก์ฟ้องเพื่อยกระดับมาตรฐานตำรวจในสังคมไทยให้ปรับเปลี่ยน เท่าทันกับการใช้สิทธิของประชาชน และหวังว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตจะก้าวหน้าเท่าเทียมกับรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิชุมชน สิทธิการชุมนุมโดยสงบของประชาชนด้วยเช่นกัน

โดยในชั้นศาลอุทธรณ์นั้นได้พิพากษายกฟ้อง ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ทางโจทก์จะยื่นฎีกาต่อไป เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยต่อไป เพราะเมื่อมีการยกฟ้องจะทำให้ตำรวจคิดว่ายังจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไปได้โดยไม่มีความผิด เพราะโครงการขนาดใหญ่ของรัฐยังมีอีกหลายโครงการ

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความในคดีนี้กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่า การชุมนุมของชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซเมื่อ 20 ธันวาคม 2545 นั้นเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ ไม่สงบ มีปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เพราะมีการขัดขวางการทำประชาคมก่อนหน้านั้น 2 ครั้ง มีการขัดขวางไม่ให้ตำรวจเข้าตรวจค้นอาวุธ กลายเป็นพฤติการณ์ที่ศาลเชื่อว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งสลายการชุมนุมเป็นการสลายโดยชอบ เป็นการใช้ดุลพินิจเพื่อชั่งน้ำหนักไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

แม้ว่าจะมีการอ้างอิงคำพิพากษาในคดีลักษณะเดียวกันที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลย 2 คดี และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่ศาลปกครองสงขลา ทางฝ่ายชาวบ้านที่เป็นจำเลยจะชนะคดี ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์บอกว่า คดีก่อนหน้านี้ไม่มีผลผูกพันกันกับคดีนี้ โดยศาลมีการนำสืบ วินิจฉัยใหม่ เป็นเพียงพยานเอกสาร ศาลวินิจฉัยใหม่ โดยหลังจากนี้ทางคณะทนายความต้องไปปรึกษากับทางโจทก์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เมื่อ 2 ศาลยกฟ้องทั้ง 2 ศาล ต้องมีการขออนุญาตฎีกา

Advertisment

 

ที่มา : มติชนออนไลน์