น้ำทะเลร้อนจัด ปะการังฟอกขาวอื้อ “หมู่เกาะสุรินทร์”

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอุทยานแห่งชาติหม่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง จากมหาวิยาลยัราชภัฏภูเก็ตประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งการสำรวจ 7 สถานีพบว่าทุกสถานีอุณหภูมิน้ำทะเลที่ระดับความลึก 2-5 ม. มีอุณหภูมิ 30-31 องศาเซลเซียสปะการังฟอก ขาวแตกต่างกันในแต่ละสถานี ดังนี้ เกาะสตอร์ค มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.) อ่าวจากมีปะการังฟอกขาวร้อยละ 40 ส่วนใหญ่ ปะการังโขด ปะการังดอกกะหล่ำ และปะการังเขากวางพุ่ม (Acropora sp.) หินแพ มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นปะการังผิวยู่ยี่(Synaraea rus) และปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.) หน้าช่องขาด มีปะการังฟอกขาว ร้อยละ 50 ส่วนใหญ่ เป็นปะการังโขด และปะการังผิวยู่ยี่ อ่าวเต่า มีปะการังฟอกขาวร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นปะการังผิวยู่ยี่และปะการังโขด อ่าวผักกาดปะการังฟอกขาว ร้อยละ 50 ส่วนใหญ่ เป็นปะการังดอกเห็ดและปะการังดอกกะหล่ำ เกาะตอรินลา ปะการังฟอกขาวร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นปะการังดอกเห็ด และปะการังในแปลงทดลองทั้ง 3 บริเวณมีสีซีดและเกิดการฟอกขาวทุกแปลงทดลอง

นายทรงธรรม กล่าวว่า จากการสำรวจปะการังฟอกขาวพบการตายจากการฟอกขาว บางโคโลนีมีสาหร่ายสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม คาดการณ์ว่าระดับความรุนแรงของการฟอกขาวจะเริ่มลดลงเพราะการฟอกขาวที่เต็มที่น่าจะเกิดขึ้น 7-10 วัน ก่อนหน้านี้ และเนื่องจากเริ่มมีลมมรสุมมีเมฆครึ้มและฝนตกในพื้นที่ขณะทำการสำรวจทำให้แนวโน้มอุณหภูมิ น้ำทะเลลดลง อย่างไรก็ตามการสรุปความเสียหายของปะการังเนื่องจากสถานการณ์ปะการังฟอกขาวจำเป็นต้องทำการสำรวจและประเมินการตายจากการฟอกขาวอีกคร้ัง ในชั้นนี้ควรมีมาตรการพักการใช้ประโยชน์บริเวณจุดที่มีการฟอกขาวที่ระดับน้ำตื้นกว่า 5 ม. เพื่อลดการรบกวนแนวปะการัง

 

 

Advertisment

ที่มา : มติชนออนไลน์