ยอดพุ่งเกือบพัน! ลงชื่อร้องเปิดสัญญาจ้างบูรณะปรางค์วัดอรุณ จี้สร้างบรรทัดฐานงานอนุรักษ์

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งแคมเปญในเวปไซต์ change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อขอให้ยับยั้งโครงการบูรณะปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร และแต่งตั้งกรรมการผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขาเพื่อทบทวน ตรวจตราและแก้ไขความเสียหาย

สำหรับส่งถึง พณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและอธิบดีกรมศิลปากร

สำหรับเหตุผลตามที่ระบุไว้ในแคมเปญ คือ กรมศิลปากร ไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย มีการรื้อผลงานครูช่างโบราณออก โดยใช้ช่างไร้ฝีมือ ขาดความประณีต นอกจากนี้ยังใช้วัสดุ(ปูนขาว)ที่ไม่ได้มาตรฐานใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับของเดิมทำให้วัสดุกระเบื้องถ้วยเคลือบเริ่มหลุดร่วงๆทั้งๆที่เพิ่งบูรณะเสร็จไปไม่กี่เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อแนบท้ายในขณะนี้ประกอบด้วยศิลปินชื่อดัง และนักวิชาการอาวุโสเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 1,000 รายแล้ว (เวลา 20.00 น.)

เนื้อหาและรายชื่อในปัจจุบัน มีดังนี้

เรื่อง ขอให้ระงับยับยั้งโครงการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร และแต่งตั้งกรรมการผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขาเพื่อทบทวน ตรวจตราและแก้ไขความเสียหาย
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
อธิบดีกรมศิลปากร

ตามที่มีข่าวปรากฎขึ้นในสื่อสาธารณะทั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อสังคมอีเลคโทรนิคเกี่ยวกับโครงการบูรณะวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ถึงภาพลักษณ์และความหมายที่เปลี่ยนไปในทางที่เสื่อมถอย อันนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ และความไม่พอใจของประชาชนไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีใจรักและผูกพันกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้

วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดโบราณ มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างในสมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานวัดอรุณฯกลายเป็นวัดภายในพระราชวัง

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่อย่างเป็นทางการว่า “วัดอรุณราชธาราม” เดิมทีมีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มาประดับไว้บนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

เดิมทีวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารแห่งนี้ เป็นพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ความสำคัญกับลวดลายและความหมายทั้งโครงสร้างและการประดับประดาโดยเฉพาะกระเบื้องเคลือบ ถ้วยชามที่ประดับบนองค์พระปรางค์นั้น บ่งบอกนัยยะของประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่เริ่มการค้าไทยจีน การย้ายราชธานีสองครั้ง การเสด็จพระราชดำเนินทอดกฐินหลวงของในหลวงหลายรัชกาล ปัจจุบันได้กลายเป็นฉากทัศน์ในการเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและวาระสำคัญอันเป็นราชประเพณีอื่นๆ

นอกจากนี้วัดอรุณฯแต่โบราณยังเป็นแหล่งสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการออกศึก ของเหล่าทหารหาญซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าที่ทรงศึกใหญ่ยาวนานมาตลอดรัชกาล จนประเทศไทยมีอาณาเขตกว้างขวางมากที่สุดกว่ายุคสมัยไหน

จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหา ภาคประชาสังคมได้พบเห็นและสรุปปัญหาทั้งในระดับการวางนโยบายบูรณะและระดับปฏิบัติการได้ดังนี้

-กรมศิลปากร ไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย ประเมินงานใช้การอ้างอิงเพื่อตรวจรับงาน

-รื้อผลงานล้ำเลิศของครูช่างโบราณออก จากนั้นทำใหม่โดยเปลี่ยนแปลงจากของเดิม เช่น สีกระเบื้องของยักษ์ ลิง คนธรรพ์ รวมไปถึงลวดลาย ขนาด ซึ่งครูช่างโบราณได้ศึกษาไว้อย่างดีแล้ว

-ช่างไร้ฝีมือ ขาดความประณีต

-ใช้วัสดุ(ปูนขาว)ที่ไม่ได้มาตรฐานใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับของเดิมทำให้วัสดุกระเบื้องถ้วยเคลือบเริ่มหลุดร่วงๆทั้งๆที่เพิ่งบูรณะเสร็จไปไม่กี่เดือน

กล่าวโดยสรุปก็คือ โครงการบูรณะครั้งนี้มีลักษณะเป็นเพียงการปฏิสังขรณ์(Restoration)ที่ขาดความเอาใจใส่ในมิติของความงามทางศิลปกรรมทำให้สุนทรียทัศน์ขาดหาย เกิดความเสื่อมค่าทางอัตลักษณ์อันโดดเด่นของพุทธปรางค์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภาคประชาสังคมจึงใคร่ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ สั่งการให้กรมศิลปากรดำเนินการตามนี้

๑.ระงับยับยั้งและยุติการบูรณะตามสัญญาโครงการในทันที

๒.ให้เปิดเผยสัญญาว่าจ้าง(TOR)แก่สาธารณชนตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ ๒๕๔๐ (มาตรา ๗, ๙ และ ๑๑)

๓.แต่งตั้งกรรมการระดับชาติที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เข้าตรวจตรา ทบทวนกระบวนการ วิธีการบูรณะและอนุรักษ์พุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ ก่อนที่โครงการบูรณะดังกล่าวจะสร้างความสูญเสียให้กับโบราณสถานวัดอรุณฯมากไปกว่านี้ ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

คณะทำงานภาคประชาสังคมศึกษางานบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณฯ

ผู้ร่วมลงนาม “ภาคประชาสังคม ศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณ-ราชวรารามราชวรวิหาร”

ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

รองศาสตราจารย์สน สีมาตรัง อาจารย์ประจำหลักสูตรนานาชาติ ดุษฎีบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญ ประจำสถาบันไทยคดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนวัดนวลนรดิศ)

ทันพงษ์ รัศนานันท์ สื่อสาธารณะ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

พิภพ บุษราคัมวดี นักเขียนและช่างภาพอิสระ ศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

จันทนา แจ่มทิม ศิลปินอิสระ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ครูธานินทร์ ชื่นใจ สกุลช่างเมืองเพชรบุรี

กฤษดากร อินกงลาศ ศิลปินจิตรกรรมไทย สกุลช่างเมืองเพชรบุรี

วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินอิสระ

มานะ ภู่พิชิต ศิลปินอิสระ

ผู้ช่วยศาตราจารย์จตุรัตน์ กีรติวุฒิพงศ์ สาขาวิชาจิตรกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

พัทรา ผดุงสุนทรารักษ์ ประธานสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

วัฒนา แก้วดวงใหญ่ ช่างทำหัวโขน ศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร

ดร.ชลธี สีหะอำไพ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ชัยศักดิ์ ชัยบุญ ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วิวิชชา ยอดนิล ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขนงนุช ยิ้มศิริ ศิลปินอิสระ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ม.ร.ว. นารี ยิ้มศิริ

ม.ล. พงศ์จรัส รัชนี

ม.ล. จรัสพงศ์ รัชนี

สุภัค รัชนี ณ อยุธยา

ศิริอุไร ทวีทรัพย์อนันต์ ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อนุพันธ์ น้ำทิพย์ ศิลปินอิสระ

ดินหิน รักพงษ์อโศก ศิลปินอิสระ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยรังสิต

ณัฐพงษ์ หริรักษาพิทักษ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วีระชัย อนุวรกาญจน์ ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เกชา สะท้านวงศ์ ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อนันต์ ประภาโส ครูและศิลปินอิสระ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ฯลฯ

 

ที่มา มติชนออนไลน์