“กรมอุทยานแห่งชาติ” แจง “แม่เกิบ” ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

แม่เกิบบ

กรมอุทยานแห่งชาติ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก อำเภอบ้านแม่เกิบ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หลัง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ

วันที่ 12 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ “พิมรี่พาย” ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ได้นำแผงโซลาร์เซลล์ ให้กับเด็กบนดอย ที่อำเภอแม่เกิบ จังหวัดเชียงใหม่ จนเกิดข้อสงสัยจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ว่า หน่วยงานรัฐปล่อยให้เกิดหมู่บ้านเหล่านี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอมก๋อยได้อย่างไร

ล่าสุด นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ุ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า พื้นที่บ้านแม่เกิบ เป็นหย่อมบ้านของบ้านศาลาเท หมู่ที่ 15 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ราษฎรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงมีประชากร 177 คน 41 ครัวเรือน

หมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร มีระยะทาง 240 กม. จากเชียงใหม่ โดยเส้นทางจากอมก๋อยเข้าพื้นที่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

ชาวบ้านที่อมก๋อย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำนาข้าว ไร่หมุนเวียน เพื่อบริโภค และรับจ้างทั่วไป ในพื้นที่มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) บ้านแม่เกิบ สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จ.เชียงใหม่ มีครู 2 คน และนักเรียน 44 คน ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊าง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาก่อนการก่อตั้งโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูงหน่วยที่ 3 (แม่จ๊าง) หรือหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊างในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2522 และอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงบ้านนาเกียน และ บ้านแม่เกิบ อยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 129 กิโลเมตร ห่างจากแนวเขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 85 กิโลเมตร

และห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) 30 กิโลเมตร ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) 6 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่นี้กรมป่าไม้ ได้มีการสำรวจพื้นที่ตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ตามแนวทางของมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แล้ว โดยสำรวจและกำหนดเป็นแปลงจะรับรอง จำนวน 72 แปลง

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจง “บ้านแม่เกิบ” ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

วันที่ 11 มกราคม 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า…

โพสต์โดย ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อ วันอังคารที่ 12 มกราคม 2021