กรมการแพทย์ แนะวิธีดูแลผู้ป่วยโควิดคลัสเตอร์ใหม่ หวังช่วยคุมการระบาด

กรมการแพทย์แนะวิธีดูแลผู้ป่วยโควิดคลัสเตอร์ใหม่ หวังช่วยคุมการระบาด

กรมการแพทย์ออกประกาศวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดสำหรับสถานพยาบาล หลังพบผู้ป่วยคลัสเตอร์ใหม่อาการน้อย-ไม่แสดงอาการ หวั่นแพร่เชื้อวงกว้างเพิ่ม แนะกักตัวผู้ป่วยอย่างน้อย 14 วัน หากมีอาการควรให้อยู่ต่ออย่างน้อย 24-48 ชม. 

วันที่ 14 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 เม.ย.64) กรมการแพทย์ได้ออกประกาศคำแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด สำหรับสถานพยาบาล

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน ยังพบจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ประกอบกับกลุ่มผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ใหม่เป็นกลุ่มไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย เสี่ยงแพร่เชื้อต่อได้

ดังนั้น แม้ผู้ป่วยโควิดจะอาการดีขึ้นแล้ว แต่อาจยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ หากมีเชื้อไวรัสอยู่ในน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วยระยะเวลา 14 วันหลังจากเริ่มติดเชื้อโควิด

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาวิจัย Multicenter clinical trial study ของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลในเครือข่ายวิจัยได้ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้น โดยระบุว่า

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ป่วยจำนวน 95 ราย จากทั้งหมด 150 ราย พบเป็นผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ B 1.1.7 จะมีอาการดีขึ้นหลังระยะเวลา 10 วัน แต่ยังพบค่าตรวจ rt-pcr ค่อนข้างสูง (ct น้อยกว่า 27) ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยนี้ยังคงดำเนินการเก็บข้อมูลและวิจัยต่อไป

ดังนั้น กรมการแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยืนยันโรคโควิด 19 ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่กระจายไปทั่วประเทศ จำเป็นต้องให้การรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล อย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย 

ถ้ากักตัวครบ 14 วันและยังมีอาการควรให้อยู่โรงพยาบาลต่อไปจนไม่มีอาการอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น หลังจากนั้นแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย และระมัดระวังสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไปตามมาตรฐานวิถีใหม่

ส่วนการกักตัวของผู้สัมผัสโรคแบบความเสี่ยงสูง ให้กักตัว 14 วัน เพื่อให้พ้นช่วงระยะเวลาฟักตัวของโรค และผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคโควิดให้แยกตัวอย่างน้อย 14 วัน โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ หากไม่มั่นใจว่าจะหยุดแยกได้หรือยัง

สำหรับแนวทางการรักษาพยาบาล ให้ติดตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อของกรมการแพทย์ ซึ่งจะปรับเป็นระยะตามองค์ความรู้ใหม่ๆที่มีสามารถติดตามได้ในเว็บไซต์ของกรมการแพทย์ www.dms.moph.go.th