หมอธีระวัฒน์ ไขข้อสงสัย ผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวก เกิดจากอะไร?

หมอเฉลยที่มาผลข้างเคียงวัคซีนซิโนแวก
ภาพจากเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

หมอธีระวัฒน์เฉลยข้อสงสัย ผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวกเกิดขึ้นได้อย่างไร? ชี้ไม่ควรเป็นอุปสรรคสำหรับการให้วัคซีนสำหรับคนไทยทุกคน

วันที่ 22 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนซิโนแวก แต่แพทย์ยืนยันว่าสามารถใช้วัคซีนลอตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากประโยชน์วัคซีนมีมากกว่าผลข้างเคียง ขณะที่ประเทศอื่นไม่มีรายงานปัญหาคล้ายคลึงแบบนี้มาก่อน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความตอบข้อสังต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนซิโนแวก ระบุหัวข้อว่า วัคซีนชิโนแวก อุปสรรคที่แก้ไขได้ เนื้อหาดังนี้

ถึงแม้ว่าจะมีผลข้างเคียงและพวกเราต้องขอบพระคุณอาจารย์หมอทางสมองหลายท่าน ทั้งที่ ระยอง ลำปางศรีราชา อุบลฯ พระมงกุฎฯ จุฬาฯ รพ.เอกชน รวมทั้งอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ และสถาบันประสาท เป็นต้น ที่มีคำอธิบายแล้ว

ลักษณะที่เกิดขึ้นทำให้เส้นเลือดเกร็งและหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองไม่เพียงพอ และอาจเกิดขึ้นจนทำให้มีอาการเฉพาะส่วนได้ และพิสูจน์แล้วจากการสอดสายฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมองและให้ยาขยายเส้นเลือดผู้ป่วย อาการดีขึ้นทันที

ในขณะเดียวกันต้องระวังว่าถ้าเส้นเลือดเกร็งและหดตัวนานจะเกิดเส้นเลือดตันซ้ำซ้อนและเนื้อสมองตายถาวรซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งหลายแห่งใช้วิธีนี้แล้วผู้ป่วยดีขึ้นเช่นกัน

การเกิดไม่น่าจากตัววัคซีนเอง แต่ควรจะมีสิ่งปนเปื้อนในขณะเตรียมหรือการบรรจุขวด ซึ่งทางการจะได้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตถึงความผิดปกตินี้ ทั้งนี้โดยที่เอกสารแนบส่วนประกอบของวัคซีนจะไม่สามารถอธิบายสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้

ขั้นตอนที่ต้องทำคือฉีดวัคซีนต่อ และเตรียมการเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 30 นาที และมีข้อระวังตัวอีกอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เมื่อกลับไปบ้านโดยสามารถให้การรักษาได้ทัน

ขณะที่เกิดอาการยาที่ขยายหลอดเลือดทุกโรงพยาบาลมีอยู่แล้วทั้งที่เป็นกิน และถ้าไม่ได้ผลจะเป็นในรูปการสอดใส่สายเข้าในเส้นเลือดเพื่อให้ยาขยายหลอดเลือด

ฟังดูเหมือนเป็นกระบวนการยุ่งยาก แต่ปฏิบัติได้แน่นอนและไม่ควรเป็นอุปสรรคสำหรับการให้วัคซีนสำหรับคนไทยทุก ๆ คน

โรคดังกล่าวทราบดีมาแต่โบราณ vasospaatic amaurosis fugax ที่ตาบอดข้างเดียว หรือ 2 ข้าง และ reversible cerebral vasoconstriction syndrome” (RCVS) ซึ่งมีลักษณะทับซ้อนกับ PRES posterior reversible encephalopathy รวมทั้งไมเกรนที่มีผลแทรกซ้อน ทางหลอดเลือดเกร็ง

กลุ่มอาการเหล่านี้ แม้ว่าส่วนมากจะกลับคืนมาได้เอง ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง CT หรือคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็ก MRI จะไม่เจอความผิดปกติ 70% แต่ผู้ป่วยที่มีการหดเกร็งนาน โดยเฉพาะในกรณีของวัคซีนนี้ จะทำให้เส้นเลือดตันและเกิดความพิการถาวรได้

วัคซีนชิโนแวค..อุปสรรคที่แก้ไขได้

ศ นพ ธีระวัฒน์…

โพสต์โดย ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เมื่อ วันพุธที่ 21 เมษายน 2021