ชาวเน็ตวิจารณ์ “การนั่งหมอบ” คอนเทนต์ชวนเสริมบุคลิกภาพแบบไทย 

ดราม่าหมอบกราบ

กรมการส่งเสริมวัฒนธรรม ปล่อยคอนเทนต์ “นั่งหมอบ” เสริมบุคลิกภาพแบบไทย ชาวเน็ตแห่วิจารณ์ ไม่เหมาะกับยุคสมัย 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เผยแพร่คอนเทนต์ เชิญชวนการสร้างบุคลิกภาพด้วย “การนั่งหมอบ” ทั้งยังมีภาพแสดงตัวอย่างท่านั่ง ทั้งผู้ชายและผู้หญิง พร้อมข้อความอธิบาย ระบุว่า

“การนั่งหมอบ เป็นการพับเพียบเก็บปลายเท้า หมอบลงไปให้ศอกทั้งสองข้าง ลงถึงพื้น คร่อมเข่าที่ยื่นล้ำมาข้างหน้า ประสานมือกัน ไม่ก้มหน้า สายตาทอดลงต่ำ การนั่งในลักษณะนี้ ปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิง เมื่อเข้าเฝ้าฯ หรือรอรับเสด็จฯ”

ทันทีที่เผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตก็ได้แห่เข้ามาคอมเมนต์ถึง 5,000 ครั้ง และแชร์ต่อถึง 5,700 กว่าครั้ง (ข้อมูลล่าสุด เวลา 13.54 น.) โดยคอมเมนต์ใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การนั่งหมอบกราบ อาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน และยังบอกว่านั่งในลักษณะดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แล้ว

หนึ่งคอมเมนต์ที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่เข้ามาคอมเมนต์เชิงตำหนิ แต่ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสียในการสร้างคอนเทนต์ของหน่วยงานภาครัฐว่า การที่ภาครัฐนำเสนอคอนเทนต์และไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะยังขาดความเข้าใจ ไม่มีประสบการณ์ โดยการเสนอคอนเทนต์ลักษณะนี้ออกมานั้น ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้าง

ทั้งยังยกตัวอย่างบางหน่วยงานภาครัฐที่สามารถทำคอนเทนต์ได้ประสบความสำเร็จทำลายกรอบความคิดเดิม ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐไม่ล้าสมัย เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม ได้เคยเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับการนั่งหมอบไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมมหาสมาคมหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2416 ว่า ให้เปลี่ยนจากการหมอบคลานเข้าเฝ้าหรืออยู่เฉพาะพระพักตร์ มาเป็นการยืนโค้งศีรษะตามแบบอารยประเทศ

“…ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ…”

ดราม่าหมอบกราบ
ภาพประกอบข่าวเท่านั้น