ปลัด กทม. เร่งแก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมถนนสายหลัก

กทม.เร่งแก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมถนนสายหลัก จำนวน 3 จุด 

วันที่ 30 พ.ค. 64 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังบนถนนสายหลัก 

ประกอบด้วย จุดที่ 1 จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร ณ งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) รัชวิภา บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี บ่อสูบน้ำถนนอาภิรมย์ ตอนลงคลองลาดพร้าว และถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ 

จุดที่ 2 จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังถนนประชาราษฎร์สาย 2 เขตบางซื่อ ณ ถนนริมคลองประปาฝั่งซ้าย จุดเชื่อมท่อระบายน้ำลงคลองขรัวตาแก่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน และถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ช่วงบริเวณคลองบางโพ 

และจุดที่ 3 จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี ณ ถนนพญาไทบริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ บ่อสูบน้ำข้างสถานทูตอินโดนีเซีย ถนนศรีอยุธยาบริเวณหน้า สน.พญาไท โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจติดตามการดำเนินงานป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บ่อสูบน้ำ การขยายท่อระบายน้ำ และการขยายเส้นทางดึงน้ำเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างสมบูรณ์หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จครบถ้วน  ทั้งนี้ การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำหรือแก้มลิงเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับปริมาณน้ำส่วนที่เกินศักยภาพของระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร  

โดยได้น้อมนำหลักการแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ดำเนินการสืบสานและขยายผลต่อยอด โดยจัดหาและพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำแก้มลิงมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างแก้มลิงเพิ่มเติม จำนวน 10 แห่ง แล้วเสร็จพร้อมใช้งานแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ บึงแก้มลิง 4 แห่ง และบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) 2 แห่ง ประกอบด้วย แก้มลิงบึงประชานิเวศน์ แก้มลิงบึงเสือดำ แก้มลิงบึงรางเข้ แก้มลิงบึงหมู่บ้านเฟรนด์ชิพ Water Bank ใต้ สน.บางเขน และ Water Bank สุทธิพร 2  

นอกจากนั้นยังมีแก้มลิงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง ได้แก่ แก้มลิงบึงสาธารณะลาดพร้าว 71 แก้มลิงบึงเบญจกิตติ Water Bank ศรีนครินทร์-กรุงเทพกรีฑา และ Water Bank รัชวิภา

คาด Water Bank รัชวิภา แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมรัชดาได้

การก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) รัชวิภา บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี เป็นบ่อหน่วงน้ำใต้ดินขนาด 10,000 ลูกบาศก์เมตร ใต้บริเวณที่เดิมเป็นสนามกีฬา โดยมีการก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาด 1.80 เมตร เชื่อมกับระบบท่อระบายน้ำหลักในแนวถนนรัชดา สำหรับรับน้ำส่วนเกินของระบบท่อระบายน้ำหลักดังกล่าว เพื่อลำเลียงน้ำไปเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน และเมื่อสถานการณ์ฝนเข้าสู่ภาวะปกติ จะระบายน้ำจากบ่อหน่วงน้ำใต้ดินเข้าสู่ระบบท่อระบายน้ำหลักเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

ทั้งนี้ คาด Water Bank รัชวิภา แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมรัชดาได้ โดยพื้นที่ด้านบนของบ่อหน่วงน้ำรัชวิภาจะปรับปรุงคืนสภาพเป็นสวนสาธารณะและสนามกีฬาให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ดังเดิม  

นอกจากนี้ภายในโครงการยังมีบ่อหน่วงน้ำพลาสติกขนาด 80 ลูกบาศก์เมตร ไว้รองรับน้ำฝนที่ตกในพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อกักเก็บไว้ใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ในสวน รวมทั้งยังได้ปรับปรุงสถานีสูบน้ำวิภาวดีพร้อมก่อสร้าง Flood Wall ตามแนวคูระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำล้นจากการสูบน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร ปัจจุบันดำเนินการได้ผลงาน 70% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 64

กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาน้ำท่วมขังแยกเตาปูน และหน้ากรมปศุสัตว์ 

สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังบริเวณถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน  สำนักงานเขตบางซื่อได้ก่อสร้างท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และในระยะต่อไปจะขยายพื้นที่เพื่อสร้างท่อรับน้ำให้มากขึ้น ทั้งท่อขนาด 1.20 เมตร และ 1.50 เมตร เพื่อที่จะดึงน้ำได้สองทาง และทำให้สามารถระบายได้มากขึ้น โดยจะสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามบริเวณผิวจราจรใต้สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน ที่ค่อนข้างมีระดับต่ำเป็นแอ่ง ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตบางซื่อประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ในส่วนของจุดอ่อนน้ำท่วมถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์  ได้ให้สำนักการระบายน้ำสำรวจและเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำทั้งสองฝั่งถนนพญาไท  รวมทั้งให้ตรวจสอบและทำความสะอาดท่อระบายน้ำที่ผันน้ำเข้าสู่สถานีสูบน้ำบริเวณข้างสถานทูตอินโดนีเซียด้วย รวมทั้งให้หมั่นตรวจสอบระบบไฟฟ้าของสถานีสูบน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะขณะฝนตก 

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า  เนื่องจากปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูฝนซึ่งอาจทำให้มีฝนตกลงมาในปริมาณมาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตต่าง ๆ  ได้เตรียมความพร้อมเพี่อรองรับสถานการณ์และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมขังในช่วงเวลาที่เกิดฝนตกหนัก 

ซึ่งหากปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังบนผิวจราจร 

แต่หากมีฝนตกหนักเป็นระยะเวลานาน หรือมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง อาจจะต้องใช้เวลาระบายน้ำระยะหนึ่งแต่ก็เร็วกว่าที่ผ่านมามาก  

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การก่อสร้างแก้มลิง บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บ่อสูบน้ำ การขยายท่อระบายน้ำ เป็นต้น  

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีแก้มลิงทั้งหมด 33 แห่ง ประกอบด้วย บึงรับน้ำ จำนวน 31 แห่ง และบ่อเก็บน้ำใต้ดินหรือ Water Bank 2 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 13.54 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แห่ง และมีแผนจะดำเนินการเพิ่มอีก 16 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนต่อไป