เปิดวิธีรับมือพายุ-น้ำท่วม ก่อนเตี้ยนหมู่เคลื่อนตัวเข้าไทย

เปิดตำรารับมือพายุ-น้ำท่วม ก่อนเตี้ยนหมู่เคลื่อนตัวเข้าไทย วันนี้ (24 ก.ย.)
ภาพจาก pixabay

เปิดวิธีเตรียมรับมือพายุ-น้ำท่วม ก่อน “เตี้ยนหมู่” เคลื่อนตัวเข้าไทยวันนี้

วันที่ 24 กันยายน 2564 กรณี กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนฝนตกหนักจากอิทธิพลของ พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 260 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญของประเทศไทย

โดยคาดว่าพายุดังกล่าวจะอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี ของประเทศไทยในวันนี้ (24 ก.ย 64)

เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมการเตรียมตัวและคำแนะนำในการรับมือภัยพิบัติ ดังนี้

10 ข้อรับมือน้ำท่วม

ข้อมูลจาก กรมอนามัย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ระบุวิธีรับมือน้ำท่วมอย่างปลอดภัย ไว้ 10 ข้อ ดังนี้

  1. ติดตามข่าวสาร สถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
  2. ยกสิ่งของขึ้นบนที่สูง
  3. รู้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่น
  4. เรียนรู้เส้นทางการอพยพไปที่ปลอดภัยและใกล้บ้านที่สุด
  5. เตรียมโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรคและอุปกรณ์สิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้พร้อม
  6. หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรเตรียมกระสอบทราย เพื่อใช้อุดปิดช่องทางที่น้ำจะไหลเข้าบ้าน
  7. นำรถยนต์และพาหนะไปจอดไว้ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
  8. ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน
  9. เขียนหรือระบุฟิวส์หรือเบรกเกอร์ว่าตัวใดใช้ควบคุมการใช้ไฟจุดใดในบ้าน
  10. หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลาก ให้ออกจากรถและไปอยู่ในที่สูงทันที

การดูแลใส่ใจเด็กเล็ก

  1. สอนให้เด็กรู้จักป้องกันตนเอง เช่น ไม่สัมผัสปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะน้ำท่วม
  2. งดเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้ทางน้ำหลาก
  3. ศึกษาแผนฉุกเฉินของพื้นที่

การรับมือพายุ

ข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) ระบุวิธีรับมือพายุ ลดเสี่ยงอันตรายไว้ดังนี้

เตรียมพร้อมรับมือ

  1. ติดตามพยากรณ์อากาศ
  2. ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้มั่นคง แข็งแรง
  3. จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด
  4. ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
  5. พบเห็นเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาไม่แข็งแรงให้รับแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรณีอยู่ในอาคาร

  1. ไม่อยู่ยริเวณดาดฟ้าหรือระเบียง เพราะเสี่ยงถูกฟ้าผ่า
  2. ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอันตรายจากลมแรง
  3. งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ป้องกันการถูกฟ้าผ่า

กรณีอยู่กลางแจ้ง

  1. อยู่ห่างจากสิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ป้องกันการถูกล้มทับ
  2. ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
  3. งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงการถูกฟ้าผ่า