ยกคดี “ครูจอมทรัพย์” โฆษกทนายความชี้ต้องแก้กฎหมายตั้งแต่ชั้นสอบสวน

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงคดีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตครูใน จ.สกลนคร ผู้ต้องหาร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในข้อสำคัญในคดี การพิจารณาคดีอาญาและซ่องโจร ในคดีที่นางจอมทรัพย์ร่วมกับพวกเบิกความเท็จต่อศาลกรณีขอรื้อฟื้นคดีนางจอมทรัพย์ ขับรถชนคนตายที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสความคิดที่จะทบทวนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานสอบสวนว่าทำอย่างไร ผู้ต้องหาจะเกิดความไว้วางใจพนักงานสอบสวนจนกล้าที่จะให้การในชั้นสอบสวน ดีกว่าจะอ้างว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การ เพราะอย่างนางจอมทรัพย์ก็อ้างว่าไม่ขอให้การในชั้นสอบสวนแต่ขอให้การในชั้นศาล ทำให้พนักงานอัยการขาดพยานหลักฐานฝ่ายต่างๆ ของผู้ต้องหา

ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินคดีกับกลุ่มเครือข่ายนางจอมทรัพย์นั้น เบื้องต้นคือการรวบรวมหลักฐานเพื่อจะพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาว่าเข้าข่ายความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือไม่ ฐานแจ้งข้อความอันมุ่งใช้เป็นพยานหลักฐานที่มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จหรือไม่ ฐานฟ้องอาญาเท็จ เบิกความอาญาเท็จ แสดงพยานหลักฐานเท็จและนำสืบพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ นอกจากนี้ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดว่าใครเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ทั้งนี้ในความเห็นของตน นางจอมทรัพย์อาจไม่ใช่คนที่ใช้จ้างวานยุยงส่งเสริม หรือเป็นผู้ก่อเหตุ ตามกฎหมายอาญามาตรา 84 ด้วยตนเอง แต่อาจมีคนใกล้ชิดที่เป็นห่วงและหวังดีต่อนางจอมทรัพย์จึงได้เซตเรื่องราวพร้อมจัดหาบุคคล สิ่งของที่เกี่ยวข้องเอามาสร้างเป็นเรื่องให้รื้อฟื้นคดี แต่ในที่สุด สิ่งที่เซตมาไม่สามารถใช้ได้เพราะศาลไม่เชื่อ เนื่องจากไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นใหม่พอที่จะให้รื้อฟื้นคดีได้

โฆษกสภาทนายความกล่าวอีกว่า เป็นห่วงในเรื่องคำให้การของผู้ต้องหา ที่อยากจะให้การเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แต่ความที่พนักงานสอบสวนบางทีทำให้ผู้ต้องหาไม่ไว้ใจ หรือมุ่งจะเป็นปฏิปักษ์กับผู้ต้องหา ผู้ต้องหามองว่าตนเองถูกดำเนินคดีเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐ ดังนั้นจึงไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน พอคดีมาถึงชั้นศาล ศาลก็ไม่มีพยานหลักฐานอะไรที่จะมาชั่งน้ำหนักพยานโจทก์ เพราะไม่มีพยานแวดล้อม ไม่มีพยานประกอบ ทำอย่างไรจึงจะแก้สิ่งเหล่านี้ได้เพื่อความยุติธรรมจะได้เกิดขึ้นจริงๆ ตอนนี้ที่อยากให้แก้ไขเบื้องต้นคือในชั้นสอบสวน ก่อนจะแจ้งข้อหาหรือถามคำให้การนั้น ตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 134/1 บอกว่าให้แจ้งสิทธิก่อนว่าคุณมีสิทธิจะให้การหรือไม่ก็ได้ คำให้การสามารถใช้ยันตัวคุณได้ คุณมีสิทธิที่จะพบทนายความ ญาติบุคคลที่คุณไว้ใจ พบแพทย์หรือโทรหาญาติได้ ถามจริงเถิดว่าความจริงทุกวันนี้ทำตามกฎหมายแค่นั้น เพราะที่เห็นจะเป็นแบบฟอร์มที่เรียงไว้ในโปรแกรมหน้าจอคอม เมื่อถามคำให้การเสร็จก็พิมพ์ออกมาให้เซ็นชื่อ ผู้ต้องหาก็เซ็นไปโดยยังไม่รู้ถึงสิทธิ ดังนั้นตำรวจต้องพยายามรับฟังฝ่ายผู้ต้องหาบ้าง ฟังความทั้ง 2 ด้านเพื่อพิสูจน์ว่ามีการกระทำความผิดจริงเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ ขณะที่ต้องฟังผู้ต้องหาพูดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนด้วย

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์