ปภ.เผย สถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัดยังอ่วม

ปภ. เผย สถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัดยังอ่วม
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำตั้งแต่วันที่ 10-19 พ.ย. 64 พบ 10 จังหวัดยังมีน้ำท่วมในพื้นที่

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM เปิดเผยว่า เวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด โดยผลกระทบจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10-19 พฤศจิกายน 2564

ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ภูเก็ต พังงา และสตูล รวม 53 อำเภอ 157 ตำบล 659 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,371 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) รวม 6 อำเภอ 20 ตำบล 78 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,138 ครัวเรือน ขณะที่อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-18 พฤศจิกายน 2564 ทำให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่

1.ประจวบคีรีขันธ์ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางสะพาน รวม 1 ตำบล 6 หมู่บ้าน ปราชาชนได้รับผลกระทบ 115 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

ภาคใต้ 3 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 19 ตำบล 72 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,023 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

2.ชุมพร น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหลังสวน อำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ รวม 15 ตำบล 66 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,876 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ระดับน้ำลดลง

3.สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอท่าชนะ รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 120 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

4.นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอขนอม รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

ขณะที่อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-18 พฤศจิกายน 2564 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 21 อำเภอ 233 ตำบล 1,571 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 90,116 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 35 ราย แยกเป็น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่

5.อุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ รวม 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 573 ครัวเรือน

ภาคกลาง 5 จังหวัด รวม 19 อำเภอ 229 ตำบล 1,548 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 89,543 ครัวเรือน ได้แก่

6.สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า รวม 28 ตำบล 267 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,053 ครัวเรือน

7.อ่างทอง ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก และอำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 9 ตำบล 45 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,020 ครัวเรือน

8.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอลาดบัวหลวง รวม 106 ตำบล 680 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 49,385 ครัวเรือน

9.ปทุมธานี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอลาดหลุมแก้ว รวม 25 ตำบล 81 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,176 ครัวเรือน

10.นครปฐม ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน อำเภอกำแพงแสน และอำเภอดอนตูม รวม 61 ตำบล 475 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,909 ครัวเรือน

ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายแล้วในหลายพื้นที่ ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ