ศบค.จับตา “คลัสเตอร์ปีใหม่” สั่งแจ้งสายด่วน ชี้ร้านอาหาร-ตลาดเสี่ยง

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.จับตา “คลัสเตอร์ปีใหม่” บอกไม่อยากให้เกิด ย้ำมาตรการคุมเข้ม COVID Free Setting ทั้งผู้ประกอบการ สถานที่ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป ชี้คลัสเตอร์ใหม่ ร้านอาหาร และตลาดยังพบต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้านหมูกระทะ ขณะที่การระบาดของโอไมครอนยังน้อย และผู้ที่เดินทางเข้าไทยอัตราการติดเชื้อโควิดยังต่ำ ระบุปีใหม่เห็นที่ไหนจัดงานมีความเสี่ยงให้แจ้งสายด่วน 1111 ทันที

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้รับรางวัลจากสหประชาชาติ (UN) จากผลงานการสกัดกั้นโควิด-19

สธ.รับรางวัลจาก UN สกัดกั้นโควิด-19 ได้ดี

โดยยูเอ็นคัดเลือกผลงานจาก 5 ภูมิภาคทั่วโลก จาก 173 ประเทศ โดยเข้ารอบเพียง 10 ประเทศ และไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ ในสาขาการดำเนินงานขององค์กร ในการเตรียมพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลก งานจัดขึ้นที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

“สหประชาชาติได้ชื่นชมและให้กระทรวงสาธารณสุขของเราเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

โอไมครอนระบาดแล้วกว่า 70 ประเทศ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ล่าสุดได้กระจายไปแล้วมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกแล้ว และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ใน 3 ประเทศหลัก อย่างสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และนอร์เวย์

“วานนี้มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกที่ประเทศจีน ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนสหรัฐอเมริกามีการกระจายของเชื้อโอไมครอนไปแล้ว 35 รัฐ ทำให้สหรัฐมีการจำกัดการเดินทางของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ จาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มาจากทวีปแอฟริกา”

5 ประเทศเดินทางเข้าไทยมากที่สุด

ส่วนผลการดำเนินงานในการรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งหมด 133,061 คน และเดือนธันวาคมที่ผ่านไป 2 สัปดาห์ (1-14 ธันวาคม 2564) มีผู้เดินทางเข้ามา 103,263 คน จะเห็นว่ามีผู้เดินทางเพิ่มขึ้นทุกวัน และส่วนใหญ่ 80% เป็นระบบ Test and Go หรือแบบไม่กักตัว รองลงมาเป็นระบบแซนด์บอกซ์ และระบบกักตัว หรือ Quarantine

สำหรับ 5 อันดับแรกของผู้ที่เดินทางเข้ามาในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมนี้ อันดับ 1.เป็นเยอรมนี จำนวน 8,739 คน รองลงมาเป็น สหราชอาณาจักร 6,818 คน 3.รัสเซีย 4,549 คน 4.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) 3,966 คน และ 5.สหรัฐอเมริกา 3,705 คน

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับเดือนพฤศจิกายน อันดับหนึ่งจะเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจาการแพร่ระบาดของสหรัฐอเมริกาเอง ทำให้มีผู้เดินทางมาจากสหรัฐลดลง

ผู้เดินทางเข้าประเทศ อัตราติดเชื้อโควิดต่ำ

ส่วนอัตราการติดเชื้อสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน กับ 2 สัปดาห์ของเดือนธันวาคม จะเห็นว่ามีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นของ 3 กลุ่มนักเดินทาง โดยจากระบบ Test and Go เพิ่มขึ้นจาก 0.08% เป็น 0.12% ระบบแซนด์บอกซ์เพิ่มขึ้นจาก 0.21% เป็น 0.23% และระบบกักตัว เพิ่มจาก 0.81% เป็น 2.16%

โดยวานนี้ (14 ธ.ค.) มีผู้เดินทางเข้ามา 7,858 ราย มีผู้ติดเชื้อ 18 ราย คิดเป็น 0.18% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ส่วนผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย จากการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขณะนี้มีรายงาน 11 ราย โดย 3 ราย อยู่ระหว่างการยืนยันอีกครั้งจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรม

ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย 99.5% ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้า (Delta) มีสายพันธุ์โอไมครอน คิดเป็น 0.23% เท่านั้น และสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) 0.17%

“ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์ไหนก็สามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการส่วนบุคคล ยังคงต้องอยู่ห่าง ๆ ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ต้องพบปะผู้คนอื่น ๆ” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวย้ำ

ยอดป่วยใหม่-เสียชีวิตในประเทศลดเยอะ

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้อยู่ที่ 3,370 ราย หายป่วย 4,457 ราย กำลังรักษาตัว 4,6,315 ราย อาการหนัก 1,018 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 277 ราย และเสียชีวิต 29 ราย ส่วนวัคซีนฉีดครบ 50 ล้านคนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมียอดรวมการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 98 ล้านโดส

ล่าสุดสำหรับผู้ที่มีการฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว ก็ได้มีมติจากผู้เชี่ยวชาญ และจากที่ประชุมของ ศบค. ได้อนุมัติให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื่องจากผู้ที่ฉีดวัคซีนไปกอนหน้านี้ภูมิคุ้มกันจะลดลงไป และมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาเพิ่มเติม และมีการฉีดเพิ่มอีก 2 สูตร โดยระยะห่างของเข็มที่ 3 จะต้องห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ด้วย

สลดผู้เสียชีวิต 21 ราย ไม่ได้รับวัคซีน

สำหรับผู้เสียชีวิต 29 รายในวันนี้ เป็นผู้หญิง 23 ราย ชาย 6 ราย และยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังคิดเป็นสัดส่วน 96% โดยอยู่ใน กทม. 3 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ภาคอีสาน รวม 4 ราย ภาคเหนือ 3 ราย ภาคกลางและภาคตะวันออกรวม 6 ราย และภาคใต้มากที่สุดจำนวน 12 ราย มี จ.นครศรีธรรมราชเสียชีวิตมากสุด 4 ราย

โดยวันนี้มีหญิงตั้งครรภ์ อายุ 43 ปี เสียชีวิต 1 ราย อยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีโรคประจำตัวเบาหวานและเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

“กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด จึงขอให้มาฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก และในส่วนของผู้เสียชีวิต 29 ราย มี 21 รายที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเมื่อลงไปสอบสวนโรคพบว่าเกือบทั้งหมดติดเชื้อในครอบครัว” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

คลัสเตอร์ใหม่ยังพบต่อเนื่อง ห่วงร้านอาหาร-ตลาด

ส่วน 10 อันดับแรกจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร 583 ราย รองลงมาเป็นชลบุรี 172 ราย นครศรีธรรมราช 150 ราย สมุทรปราการ 140 ราย สงขลา 135 ราย ปัตตานี 117 ราย ส่วนจังหวัดที่เหลือตัวเลขต่ำกว่า 100 ราย ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 97 ราย เชียงใหม่ 89 ราย ปราจีนบุรี 76 ราย และตรัง 71 ราย

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่พบว่ายังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่โรงงานและสถานประกอบการ โดยเจอที่ปราจีนบุรี ระยอง ขอนแก่น ส่วนคลัสเตอร์ตลาดพบที่จันทบุรี สระแก้ว ลพบุรี ค่ายทหารพบที่ประจวบคีรีขันธ์ คลัสเตอร์งานศพพบที่นราธิวาสและขอนแก่น ส่วนคลัสเตอร์ร้านอาหารยังมีรายงานอย่างต่อเนื่อง โดยพบที่กรุงเทพมหานครและสุราษฎร์ธานี

“ทางศบค.มีความห่วงใยโดยเฉพาะการติดเชื้อที่เป็นกลุ่มก้อน อาจจะพบมากขึ้นในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการติดเชื้อในตลาดและร้านอาหาร และร้านอาหารที่รายงานมาอย่างต่อเนื่องจะเป็นร้านหมูกระทะ ซึ่งอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่รับประทานในกระทะเดียวกัน และใช้เวลากินกันนาน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ส่วนตลาดเป็นผลเนื่องมาจากเป็นวันหยุดอาจมีการจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดมากขึ้น” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

ขอให้ยังคงเคร่งครัดมาตรการมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเรื่อง COVID Free Setting ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้าง พนักงาน รวมทั้งประชาชนที่เข้าไปใช้บริการเคร่งครัดในเรื่องของมาตรการส่วนบุคคล ต้องไปรับวัคซีนให้ครบโดส มีการจัดสถานที่ไม่ให้มีการแออัด ให้อากาศถ่ายเทได้ดี และเมื่อเสร็จการจับจ่ายใช้สอยแล้วให้รีบกลับทันที

หวั่นคลัสเตอร์ปีใหม่ ไม่อยากให้เกิด

แพทย์หญิงสุมนียังกล่าวต่อว่า สำหรับการผ่อนคลายมาตรการล่าสุด ซึ่งจะมีผลในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ทำให้มีการปรับระดับพื้นที่เหลือแค่ 3 สี คือ สีส้มพื้นที่ควบคุม 39 จังหวัด สีเหลืองพื้นที่เฝ้าระวัง 30 จังหวัด และสีฟ้าพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด ซึ่งแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการ แต่ทุกพื้นที่ยังต้องเน้นย้ำมาตรการควบคุมโรคต่อไปอย่างเคร่งครัด

ส่วนเรื่องการจัดงานปีใหม่ ซึ่งที่ประชุม ศบค. ได้อนุมัติให้จัดงานปีใหม่ได้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสามารถบริโภคสุราไม่เกินเวลา 01.00 น. หรือ ตี 1 ในร้านที่มีอากาศถ่ายเทได้เท่านั้น และสถานที่จัดงานต้องมีความปลอดภัย เช่น มีการตรวจคัดกรอง มีการตรวจ ATK มีผลเป็นลบก่อนเข้างานภายใน 72 ชั่วโมง หรือต้องได้รับวัคซีนครบโดสหรือครบตามเกณฑ์ เป็นต้น

“ขณะที่การจัดงานเลี้ยงในครอบครัว ถึงแม้จะมีการจัดงานที่มีคนจำนวนน้อย แต่ถ้ามีการกินเลี้ยง ดื่มสังสรรค์ยังคงต้องระมัดระวัง เพราะขณะนี้การแพร่ระบาดใหญ่ ๆ ยังเป็นการระบาดในกลุ่มก้อนเล็ก ๆ โดยเฉพาะคนในครอบครัว คนที่รู้จักกัน เพื่อนร่วมงาน ซึ่งถ้ามีการสุ่มตรวจ ATK ก็จะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า

ในปีใหม่นี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งสื่อมวลชน ถ้าพบเห็นการจัดงานใด ๆ ที่มีความเสี่ยง เช่น คนแออัดมาก ไม่สวมหน้ากากอนามัย ขอให้รายงานมาที่ศูนย์รับเรื่องสายด่วน 1111 ได้ทันที

“ศบค.อยากให้การจัดงานเทศกาลปีใหม่เป็นกิจกรรมที่ทำให้พี่น้องคนไทยมีความสุข และต้องมาพร้อมกับความปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ปีใหม่ขึ้นมา ก่อนหน้านี้เราก็ผ่านเทศกาลลอยกระทงมาได้ โดยไม่มีคลัสเตอร์ลอยกระทง ซึ่งก็ยังคงต้องใช้ชีวิตโดยเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลตลอดเวลา” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวย้ำในตอนท้าย