โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยังเรียกค่าชดเชยจาก สปสช. ได้หรือไม่

หมอธีระวัฒน์ ภูมิคุ้มกันหมู่
ภาพจากเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

หมอธีระวัฒน์ ตั้งคำถาม หากไทยให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยังเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช. ได้หรือไม่

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ตั้งคำถามผลต่อเนื่องภายหลังที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ดังนี้

  • โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย ?
  • ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว?
  • ไม่ต้องมีการรายงาน?
  • ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิของแต่ละคน เช่น ใช้บัตรทอง?
  • ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?
  • การตรวจใด ๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง?
  • วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น และปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่?

นพ.ธีระวัฒน์ ยังเปิดเผยข้อมูลการยื่นคำร้องเรียกค่าชดเชย (ข้อมูล วันที่ 28 ม.ค.2565) ระบุว่า มีผู้ยื่นคำร้อง 13,825 รายเข้าเกณฑ์ 10,544 ราย และมีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาในรายที่เหลือและที่มีอุทธรณ์ ทั้งนี้ มีการจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 1,205,538,900 บาท และมีเสียชีวิต 20.56%

โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เตรียมมาตรการรองรับ

วานนี้ (27 ม.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เปิดเผยระหว่างการเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบหลักการเกี่ยวกับการเตรียมการการเพื่อพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการจัดตั้งคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน รวมถึงการการสร้างภูมิคุ้มกันโรคอื่น ๆ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ

เหตุผล 3 ข้อ เตรียมให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเหตุผล 3 ข้อ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพิจารณาประกาศให้การระบาดในครั้งนี้ในประเทศไทย เข้าสู่โรคประจำถิ่น ดังนี้

  1. เชื้อลดความรุนแรง
  2. ประชาชนร่วมมือฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี
  3. การบริหารจัดการ ดูแลรักษา และการชะลอการระบาดได้อย่างดี