สธ. จ่อฉีดสูตรไขว้ ซิโนแวค-ไฟเซอร์ เด็ก 6-11 ปี เพิ่มทางเลือก

วัคซีนโควิด

สธ. เผยโควิดระลอกโอมิครอนทำยอดป่วยโควิดกลุ่มเด็กพุ่งทะลุ 1.36 หมื่นราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากครอบครัว-ชุมชน-โรงเรียน แนะผู้ปกครองพาบุตรหลานรับวัคซีนลดนำเชื้อติดผู้สูงวัยในบ้าน พร้อมอัปเดตสูตรฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก จ่อเพิ่มทางเลือกวัคซีนศุตรไขว้ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ประเดิมกลุ่ม 12-17 ปี ก่อนขยายกลุ่ม 6-11 ปี ผลวิจัยชี้ภูมิคุ้มกันสูงเทียบไฟเซอร์ 2 เข็ม

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการติดเชื้อโควิดในกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และกลุ่มวัยรุ่น 10-19 ปี เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยปัจจัยเสี่ยงหากแยกตามกลุ่มจะพบว่า กลุ่มอายุ 0-4 ปี จะติดเชื้อจากในครอบครัวสูงที่สุด ขณะที่กลุ่มอายุ 5-9 ปี จะติดเชื้อจากชุมชน การเดินทาง หรือพื้นที่เสี่ยง และมีติดจากครอบครัว ส่วนกลุ่มอายุ 10-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-19 ปี ซึ่งอยู่ในชั้นประถมปลายไปจนถึงมัธยมจะมีการติดเชื้อจากในโรงเรียน และพื้นที่ชุมชน

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กนับว่าสวนทางกับอัตราการติดเชื้อ โดยมีแนวโน้มการเสียชีวิตในระดับต่ำเพียง 0.01% ทว่ากลุ่มเด็กสามารถนำเชื้อโควิดไปติดสู่กลุ่มสูงวัยได้ ซึ่งหากกลุ่มสูงวัยจะมีการเสียชีวิตถึง 3.89%

ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมารับวัคซีน และนำกลุ่มผู้สูงวัยเข้ารับบูสเตอร์โดสเข็ม 3 เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตลง

Advertisment

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลการติดเชื้อในไทย ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มีการวิเคราะห์การติดเชื้อในเด็ก 5-11 ปี โดยเปรียบเทียบให้เห็นการติดเชื้อตั้งแต่ระลอกที่ 1 ถึงระลอกล่าสุด พบติดเชื้อทั้งสิ้น 137,262 ราย แบ่งได้ดังนี้

    1. ระลอก ม.ค.2563-พ.ย.2563 พบติดเชื้อจำนวน 57 ราย หรือคิดเป็น 1.4% ของผู้ติดเชื้อในระลอกดังกล่าว
    2. ระลอก 1 ธ.ค. 2563-31 มี.ค.2564 พบติดเชื้อ 202 ราย หรือคิดเป็น 1.0% ของผู้ติดเชื้อในระลอกดังกล่าว
    3. ระลอก 1 เม.ย.2564-31 ธ.ค.2564 พบติดเชื้อ 123,403 ราย หรือคิดเป็น 6.6% ของผู้ติดเชื้อในระลอกดังกล่าว
    4. ระลอก 1 ม.ค.2565-2 ก.พ.2565 พบติดเชื้อ 13,600 ราย หรือคิดเป็น 6.6% ของผู้ติดเชื้อในระลอกดังกล่าว

โดยระลอกหลัง ๆ ที่เป็นสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอนพบว่า มีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้นอย่างสูงได้ชัด จากสัดส่วน 1% ขึ้นไปที่ราว 6% แต่ส่วนมากอาการน้อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ สธ.กังวล คือ การที่เด็กบางคนหลังติดเชื้ออาจมีภาวะมิสซี (MIS-C) หรืออาการอักเสบในหลายระบบทั่วร่างกาย นำมาสู่นโยบายการฉีดวัคซีนในเด็กนั่นเอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครัวเรือน และเตรียมความพร้อมเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย

โดยขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี ไปแล้วกว่า 66,165 ราย จากทั้งหมด 5.1 ล้านคน ส่วนคำแนะนำในการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีดังนี้

Advertisment
    1. เด็กอายุ 5-11 ปี ให้รับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ขนาด 10 ไมโครกรัม โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มราว 8 สัปดาห์
    2. เด็กอายุ 6-17 ปี ให้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 0.5 ml โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มราว 4 สัปดาห์
    3. เด็กอายุ 12-17 ปี ให้รับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง 2 เข็ม ขนาด 30 ไมโครกรัม โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มราว 3-4 สัปดาห์ หรือวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค+ไฟเซอร์ เว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้การยอมรับแล้ว

ทั้งนี้ สูตรไขว้ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ขณะนี้ได้เตรียมพิจารณาขยายไปสู่กลุ่มเด็กอายุ 6-11 ปี เพื่อเพิ่มทางเลือกในการฉีดให้แก่เด็กและผู้ปกครอง โดยจากนี้ไปจะนำเข้าหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วข้อมูลเพิ่มเติมชัดเจน

ในส่วนข้อมูลความปลอดภัย เริ่มจากวัคซีนซิโนแวคที่มีการฉีดกว่า 325 ล้านคน ในกลุ่มเด็กอายุ 3-17 ปี ที่ประเทศจีน พบมีอาการไม่พึงประสงค์ราว 1.9 หมื่นราย

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มเด็กอายุ 5-17 ปี ผลข้างเคียงทั่วไปพบ อาการอ่อนเพลีย 39.4% ปวดหัว 28% ปวดเมื่อย 11.7% หนาวสั่น 9.8% ขณะที่โอกาสพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับไฟเซอร์เข็ม 2 ต่อจำนวนการฉีด 1 ล้านโดส ได้ข้อมูลดังต่อไปนี้

    • กลุ่มอายุ 5-11 ปี พบอุบัติการณ์ในเพศชาย 4.3 ราย และเพศหญิง 2 ราย
    • กลุ่มอายุ 12-15 ปี พบอุบัติการณ์ในเพศชาย 45.7 ราย และเพศหญิง 3.8 ราย
    • กลุ่มอายุ 16-17 ปี พบอุบัติการณ์ในเพศชาย 70.2 ราย และเพศหญิง 7.6 ราย

ขณะที่ข้อมูลผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันโควิดหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม เทียบกับสูตรไขว้ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งได้ทำการศึกษาในประเทศไทย โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาระดับภูมิคุ้มกัน anti-RBD IgG พบว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ได้ผลเทียบเคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม

โดยผลวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็กอายุ 12-17 ปี และจะมีการนำข้อมูลส่วนนี้ไปประกอบการพิจารณาสูตรไขว้ในเด็ก 6-11 ปีอีกครั้งหนึ่ง