
เปิดข้อกฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงโซเชียลในประเทศไทย มีความผิดหรือไม่ หลังเกิดกรณีเพจสนับสนุนวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง “Blackpink” โพสต์ภาพ “ลิซ่า” ถือวิสกี้ดังระดับโลก
วันที่ 17 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สังคมกำลังจับตามอง กรณีเพจเฟซบุ๊ก Blackpink Thailand News โพสต์ภาพนักร้องสาวชื่อดัง นางสาวลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า แบล็กพิ้งค์ ถ่ายภาพคู่กับขวดแอลกอฮอล์แบรนด์ “ชีวาส รีกัล” วิสกี้ชื่อดังระดับโลก เนื่องจากได้รับเลือกเป็นพรีเซนเตอร์และแอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์ดังกล่าว
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 16 พ.ย. 2566
- แม็คโคร ยืนยันเลิกซื้อหมูจากเวลท์ แอนด์ เฮลธ์ซี ฟูดส์ ตั้งแต่ปี 2565
- หุ้น TRUE บิ๊กลอตปริศนาโผล่ 215.5 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 1,099 ล้าน
โพสต์ดังกล่าวถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ขณะที่บางประเทศไม่มีกฎหมายควบคุมเหมือนประเทศไทย จึงสามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิด
“ประชาชาติธุรกิจ” กางกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เทียบกับกรณีโพสต์ของเพจ Blackpink Thailand News ว่า สรุปแล้ว การกระทำดังกล่าว สามารถทำได้หรือไม่
เปิดกฎหมายโฆษณาเหล้า-เบียร์ในไทย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุความในมาตรา 32 ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฎภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฎของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ต้นขั้วโฆษณาจากนอกประเทศไทย ไม่ผิด?
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ระบุว่า “บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร”
จากข้อบังคับข้างต้น “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลพบว่า รูปภาพที่ลิซ่า ถือเครื่องดื่มของ ชีวาส รีกัล มาจากเว็บไซต์ https://www.chivas.com/ โดยชีวาส รีกัล เป็นเครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดจากสก๊อตแลนด์
บทลงโทษ หากกระทำผิด
พระราชบัญญัติฯ หมวด 7 บทกำหนดโทษ มาตรา 43 ระบุไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำไมต้องมีกฎหมายควบคุมโฆษณาเหล้า-เบียร์
ช่วงท้ายของ พ.ร.บ. ฉบับปี 2551 ยังระบุถึงสาเหตุที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ว่า
“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
“รวมทั้งการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดชนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องใช้พระราชบัญญัตินี้”