ศบค.เปิดพื้นที่ 3 ภาคเสียชีวิตมากสุด ชี้แนวโน้มป่วยหนัก-ตายพุ่ง

(FilePhoto by Madaree TOHLALA / AFP)

ศบค.อัพเดต 10 จังหวัดติดโควิดสูงสุด 5 จังหวัดยังนำโด่ง กทม. นครศรีฯ ชลบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ขณะที่ยอดผู้ป่วยหนักจากปอดอักเสบและเสียชีวิตแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน ระบุพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ เสียชีวิตมากสุด และมี 84 รายที่ตายไม่ได้ฉีดบูสเตอร์ ขณะที่เข็มกระตุ้นเข็ม 3 กลุ่มผู้สูงอายุยังฉีดได้เพียง 33%เท่านั้น

วันที่ 21 มีนาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 23,441 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,153,975 ราย หายป่วยแล้ว 944,243 ราย และเสียชีวิตสะสม 2,548 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,377,410 ราย หายป่วยแล้ว 3,112,737 รายและ เสียชีวิตสะสม 24,246 ราย

ทางด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานผลตรวจ ATK วันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเพิ่ม 15,177 ราย รวมสะสม 1,253,260 ราย ร้อยละของการตรวจพบเชื้ออยู่ที่ 49.11%

ปอดอักเสบ-ตาย ทิศทางเพิ่ม 84 รายไม่ได้ฉีดบูสเตอร์

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบหรือผู้ป่วยหนัก รวมถึงผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ทิศทางยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะไม่มาก ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีทิศทางเพิ่มขึ้นชัดเจน และวันนี้ทำสถิติเสียชีวิตสูงสุด 88 ราย นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยย้อนหลัง 14 วันแนวโน้มจากกราฟมีทิศทางทรงตัวที่ระดับ 2.2 หมื่นราย (ตามกราฟิก)

ที่น่าสนใจในวันนี้มีผู้เสียชีวิต 84 ราย จาก 88 รายที่เสียชีวิตยังไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์ โดส 84 ราย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ ศบค.คาดการณ์ (ฉากทัศน์) ว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่จะเพิ่มสูงสุดในช่วงวันที่ 19 เมษายน 2565 ประมาณ 50,000 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตคาดว่าจะเพิ่มสูงสุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ประมาณ 250ราย/วัน

เช่นเดียวกับอัตราการครองเตียงใน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวในโรงพยาบาล 10 จังหวัดแรก อัตราการครองเตียงยังอยู่ในระดับ 2-3 หรือสีเขียวอ่อนกับเขียวเข้ม ต่ำสุดอยู่ในระดับ 9.90% ที่ระยอง และสูงสุดอยู่ที่สุราษฎร์ธานี 45.60% ขณะที่ กทม.แม้จะมีผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากที่สุด 193 ราย แต่อัตราการครองเตียงยังอยู่ในระดับ 31.40%

เข้มกระตุ้นเข็ม 3 กลุ่มสูงอายุ ยังฉีดได้แค่ 33%

ส่วนผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 20 มีนาคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 23,161 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 12,071 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 57,789 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 20 มีนาคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 127,383,667 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 54,881,239 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 50,116,759 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 22,385,669 ราย

ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเดือนมีนาคมนี้ ตอนนี้เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 10.59 ล้านโดส คิดเป็น 83.4% เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 10.03 ล้านโดส ขณะที่เข็มที่ 3 เพิ่งฉีดไปได้เพียง 4.2 ล้านโดส หรือคิดเป็น 33.1% เท่านั้น ซึ่ง ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขพยายามเร่งรณรงค์ฉีดให้มากขึ้นก่อนเข้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีบุตรหลานเดินทางกลับภูมิลำเนากลับไปเยี่ยมพ่อแม่ ผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อโควิดได้

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1.เป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,870 ราย รวมสะสม 161,737 ราย รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช จำนวน 1,625 ราย ชลบุรี 1,128 ราย สมุทรสาคร 908 ราย สมุทรปราการ 865 ราย ระยอง 737 ราย พัทลุง 547 ราย สงขลา 533 ราย ฉะเชิงเทรา 524 ราย และราชบุรี 519 ราย

ทั้งนี้ในส่วนของ 5 จังหวัดแรกพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต 88 รายในวันนี้ เป็นชาย 44 ราย หญิง 44 ราย เป็นคนไทย 87 ราย เมียนมา 1 ราย ค่ามัธยฐานวันที่พบเชื้อจนกระทั่งเสียชีวิตอยู่ที่ 6 วัน และพบเชื้อวันเสียชีวิต 12 ราย

พื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ใต้ ตายมากสุด

ขณะที่ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 66 ราย คิดเป็น 75% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 17 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงมาจากมะเร็ง 6 ราย โรคไต 21 ราย ภาวะอ้วน 10 ราย หลอดเลือดสมอง 12 ราย โรคหัวใจ 14 ราย ติดเตียง 7 ราย โดยติดเชื้อจากคนรู้จัก 24 ราย ติดในครอบครัว 17 ราย และอยู่ในพื้นที่ระบาด 12 ราย

และเมื่อแยกตามพื้นที่ผู้เสียชีวิตในรอบนี้พบว่าอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกรวม 24 ราย กลุ่มจังหวัดภาคใต้ 22 ราย กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน 15 ราย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 12 ราย จังหวัดปริมณฑล 11 ราย และกรุงเทพมหานครวันนี้เสียชีวิตน้อยสุดแค่ 4 ราย

สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1-20 มีนาคม 2565 มีจำนวน 171,903 ราย พบติดโควิดสะสม 1,156 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ ลดลงค่อนข้างมาก โดยวันนี้ที่เดินทางเข้ามามากที่สุดมาจากเมียนมา 6 ราย เป็นคนไทย 1 ราย เป็นต่างชาติ 5 ราย นอกนั้นมาจากเยอรมนี 4 ราย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ประเทศละ 3 ราย ที่เหลือประเทศละ 1-2 รายเท่านั้น

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 471,069,142 ราย อาการรุนแรง 61,638 ราย รักษาหายแล้ว 407,091,743 ราย และเสียชีวิต 6,101,013 ราย

ขณะที่อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด (รวมย้อนหลัง 7 วัน) 1. เกาหลีใต้ จำนวน 2,817,193 ราย 2. เยอรมนี จำนวน 1,442,808 ราย 3. เวียดนาม จำนวน 1,228,998 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 623,016 ราย 5. อิตาลี จำนวน 487,738 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก จำนวน 169,144 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตย้อนหลัง 7 วันอยู่ที่ 537 ราย อยู่อันดับ 8 ของโลกที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด