กทม. ปักเข็มฉีดวัคซีนโควิดชาวกรุงทะลุ 24 ล้านโดส รับสงกรานต์ปี65

กทม. เผยปักเข็มคนกรุงรวม 24 ล้านโดส เข็ม 3 ทะลุ 5 ล้านโดส ด้านเข็ม 4 ระดมฉีดกว่า 7.5 แสนโดส พร้อมเร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 เตรียมพร้อมสงกรานต์ปี 65 สกัดแพร่ระบาดเชื้อ

วันที่ 24 มีนาคม 2565 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2565 โดยอัปเดตความคืบหน้าการฉีดวัคซีนเขต กทม.

โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค.) กทม. ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสะสม 24,539,527 โดส แบ่งเป็น

เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 9,746,527 โดส ความครอบคลุม 115.87%

เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 8,880,928 โดส ความครอบคลุม 105.58%

เข็มที่ 3 ฉีดแล้ว 5,161,062 โดส ความครอบคลุม 61.36%

เข็มที่ 4 ฉีดแล้ว 751,010 โดส ความครอบคลุม 8.93%

ส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียนอายุ 5-11 ปี มีข้อมูล ดังนี้ เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 231,540 โดส คิดเป็น 59.29% และเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 21,976 โดส คิดเป็น 5.63%

ขณะที่กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 329,239 โดส คิดเป็น 91.23% เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 301,906 โดส คิดเป็น 83.66%

ส่วนผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป้าหมายประชากร กลุ่ม 608 จำนวน 2,214,467 คน ครอบคลุมเข็มที่ 1 คิดเป็น 91.15% ครอบคลุมเข็มที่ 2 คิดเป็น 83.23% ครอบคลุมเข็มที่ 3 คิดเป็น 51.76%

ด้านกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,352,564 คน ครอบคลุมเข็มที่ 1 คิดเป็น 83.10% ครอบคลุมเข็มที่ 2 คิดเป็น 74.61% ครอบคลุมเข็มที่ 3 คิดเป็น 47.34%

ในส่วนของคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 จากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.65 การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนี้

1.แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

2.แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป กรณีกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer สามารถฉีดขนาดครึ่งโดสได้ ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน

ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12-17 ปี แนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 ขนาดโดสมาตรฐาน โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลาตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป

การให้วัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อ แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อ ได้ตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ โดยให้วัคซีนหลังจากการติดเชื้อ เป็นเวลา 3 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการเร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 ซึ่งประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา อาจเกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนี้

1.เร่งประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเน้นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดอัตราการเสียชีวิตให้น้อยลง

2.ขอความร่วมมือสถานพยาบาลทุกแห่งจัดกิจกรรมรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 โดยเพิ่มช่องทางบริการ Walk in

3.เพิ่มช่องทางการรับวัคซีนแบบ Walk in ในจุดฉีดนอกสถานพยาบาล

4.เร่งดำเนินงานโครงการ ผอ.เขตเดินดิน อย่างต่อเนื่อง

5.ขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

6.สำรวจผู้สูงอายุที่มีประวัติติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เข้ารับการฉีดวัคซีน

7.ออกหน่วยบริการเชิงรุกหรือหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BKK Mobile Vaccination Mobile : BMV) เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนให้กับผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกเดินทาง