หมอธีระวัฒน์เผย 9 ข้อ เกิดขึ้นแม้ระบาดสายพันธุ์หลัก-ย่อย-ผสม

หมอธีระวัฒน์

หมอธีระวัฒน์เผยสถานการณ์โควิด 9 ข้อที่ต้องเกิดแม้ในช่วงระบาดสายพันธุ์หลัก-ย่อย-ผสม ชี้อย่าทะนงตนฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

วันที่ 3 เมษายน 2565 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์หลัก สายพันธุ์ย่อย หรือที่เกิดควบเป็นสายพันธุ์รวม ดังนี้

1. วัคซีนที่ฉีดไม่ว่าจะเป็น 3 เข็ม 4 ถึง 5 ก็ตาม จะป้องกันการติดเชื้อได้ไม่นานนักอยู่เพียงประมาณ 2 เดือน

2. คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนในปีนี้ สามารถติดเชื้อได้ไหม่ แม้ว่าภูมิจากการติดเชื้อจะดีกว่าที่ได้จากวัคซีนก็ตาม ดังนั้น จะเริ่มเห็นว่าติดใหม่ได้ภายใน 1 หรือ 2 เดือนเป็นต้นไป

3. เมื่อได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือมีการติดเชื้อไปแล้ว ห้ามทะนงตัวว่าจะป้องกันอาการหนักหรือตายได้ 100%

4. ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสมีการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมอย่างเก่ง และมีประสิทธิภาพมาก จนกระทั่งภูมิทั้งหลายที่มี จดจำไวรัสได้ แต่อาจไม่ทำอะไร และมิหนำซ้ำ ก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้น โดยการสร้างการอักเสบอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้เกิดทุกคน แต่เป็นที่จับตามองในหลายพื้นที่ตั้งประเทศที่ฉีดวัคซีนเต็มที่แล้วแต่อาการหนักและอัตราเสียชีวิตเป็นสัดส่วนที่มากเกินไปสำหรับโอมิครอน

5. โควิด 2565 นี้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง (post acute sequelae) หลังจากที่ไม่สามารถตรวจหาเชื้อเจอได้จากการแยงจมูก ลำคอหรือน้ำลาย

6. ผลกระทบต่อเนื่องนี้เห็นได้ตั้งแต่ระยะที่หายใหม่ ๆ หรือผ่านไประยะหนึ่ง และจึงเกิดขึ้นไป ต่อเนื่องเป็นเดือน (long covid)

7. ผลกระทบนี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่หัวจดเท้าและอวัยวะภายใน ทั้งผมร่วง ผื่นขึ้น ปวดข้อ กล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า คิดช้า หดหู่ ซึมเศร้า ความจำสั้น สมาธิไม่มี หัวใจผิดปกติ การทำงานของไต ตับไม่ปกติ รวมทั้งตับอ่อน เกิดเบาหวานปะทุ

8. ทั้งนี้ เกิดจากการอักเสบที่เกิดขึ้น หมุน-วนในร่างกายรวมกระทั่งถึงในสมอง ซึ่งนอกจากทำให้สมองแปรปรวนยังทำให้เกิดการสั่งงานจากสมองลงมายังอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ

9. ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สงบเอง จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ว่ายังมีการอักเสบในระดับรุนแรง แต่การตรวจ hs CRP (High sensitivity CRP) อาจไม่เพียงพอ และต้องตรวจควบรวมถึงผลที่เกิดจากภูมิในระบบต่าง ๆ ที่เกิดการอักเสบและที่ต่อสู้กับการอักเสบพร้อมกัน (proinflammatory -antiinflammatory)

นพ.ธีระวัฒน์ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวทำให้ต้องยังคงมีการระวังตัว โดยเฉพาะเมื่อหยุดยาว ถ้ามีการรวมกลุ่ม พยายามอยู่ในสถานที่ที่โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวกและยังคงใส่หน้ากาก ล้างมืออย่างเคร่งครัด เพื่อให้ชีวิตเดินอยู่ได้และเศรษฐกิจไม่สะดุด